24 ธันวาคม 2554

เวทีเครือข่ายสัมพันธ์และงานวันขอบคุณผู้สนับสนุนการดำเนินงานของเครือข่าย ทสม. จังหวัดเพชรบุรี

เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) จังหวัดเพชรบุรี จัดเวทีเครือข่ายสัมพันธ์และงานวันขอบคุณผู้สนับสนุนการดำเนินงานของเครือข่าย ปี ๒๕๕๔ ณ ลานเวทีชาวบ้าน สถานีวิทยุ สวท. เพชรบุรี อ. เมือง จ. เพชรบุรี ในวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๔ เวลา ๑๖.๐๐- ๒๑.๓๐ น. เพื่อให้สมาชิกเครือข่าย ทสม. และภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ในจังหวัดเพชรบุรี ได้พบปะ สังสรรค์ แลกเปลี่ยน ประสบการณ์ แนวทางการทำงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี โดยมีกิจกรรมดังนี้
๑. เวทีเสวนา "เยาวชนเมืองเพชรกับการอนุรักษ์แม่น้ำเพชรบุรี" ถ่ายทอดเสียงออกอากาศสดทาง สวท. เพชรบุรี FM ๙๕.๗๕ MHz. ผ่านรายการคุยเฟื้องเรื่องเมืองเพชร เวลา ๑๗.๑๕ - ๑๘.๐๐ น. ดำเนินรายการโดย อ. สุรพล นาคนคร และคุณปริญญา ศรีสุคนธ์ โดยมีเยาวชนลุ่มน้ำเพชร ๔ คนร่วมรายการ
๒. การประกวดร้องเพลง " ทสม. ขอวอน"
๓. รับประทานอาหารโต๊ะจีน










5 ธันวาคม 2554

วันสิ่งแวดล้อมไทย เทิดไท้องค์ราชันย์

ในโอกาสวันสิ่งแวดล้อมไทย ๔ ธันวาคม เครือข่าย ทสม. จังหวัดเพชรบุรี ชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเพชรบุรี และภาคีเครือข่ายภาคประชาชนในจังหวัดเพชรบุรี ได้ร่วมกันจัดงาน "วันสิ่งแวดล้อมไทย เทิดไทยองค์ราชันย์" ในวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๕๔ เวลา ๑๓.๐๐ - ๑๘.๓๐ น. ลานจามจุรี พระราชวังรามราชนิเวศณ์ (วังบ้านปืน) อ. เมือง จ. เพชรบุรี โดยมีกิจกรรม นิทรรศน์การ การสาธิต และการเสวนา "ตามคำสอนพ่อ" โดย อ. สุมล สุตะวิริยะวัฒน์, อ.ไตรพันธ์ คงกำเนิด, อ. เสน่ห์ สังข์สุข (แดนอรัญ แสงทอง) โดยมี อ. สุรพล นาคนคร เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยถ่ายทอดเสิยงออกอากาศ ทางสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย จังหวัดเพชรบุรี เอฟเอ็ม ๙๕.๗๕ ในเวลา ๑๘.๐๐ น. ได้ร่วมกันร้องเพลงชาติ กล่าวคำราชสดุดีองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กล่าวปฏิญาณตน ร้องเพลงสดุดีมหาราชา และเพลงสรรเสริญพระบารมี
คำถวายสัตย์ปฏิญาณ

เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔


และเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมไทย ๔ ธันวาคม ๒๕๕๔


ข้าพเจ้า.................ขอถวายสัตย์ปฏิญาณ


๑) ข้าพเจ้า จักเทิดทูน ปกป้อง และรักษาไว้ ซึ่งสถาบัน ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์


๒) ข้าพเจ้า จักดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ประพฤติตนเสื่อมเสียเกียรติของตน และจะเป็นพลเมืองที่ดีเพื่อเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท

๓) ข้าพเจ้า จักทะนุบำรุงทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และใช้อย่างรู้คุณค่า ตามแนวทางโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ



เวทีเสวนาตามคำสอนพ่อ โดยอ. สุรพล, อ.สุมล, อ.เสน่ห์, อ.ไตรพันธ์

27 ตุลาคม 2554

ทสม. ดีเด่น ระดับจังหวัดเพชรบุรี ปี ๒๕๕๔ เนื่องในวันอาสาสมัครไทย

ในวันอาสาสมัครไทย ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๔ จังหวัดเพชรบุรีและสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเพชรบุรี ได้มอบเกียรติบัตรให้อาสาสมัครดีเด่นในแต่ละด้านของจังหวัดเพชรบุรี โดยมีนายสุรชัย อังเกิดโชค รองผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานในพิธีและมอบเกียรติบัตรให้อาสาสมัครดีเด่น โดยอาสาสมัคร ทสม. ดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๔ ของจังหวัดเพชรบุรีคือ นายสมภร ทัพนาค สมาชิก ทสม. อ. หนองหญ้าปล้อง ประธานป่าชุมชนบ้านหนองรี ม. ๓ ต. ท่าตะคร้อ อ. หนองหญ้าปล้อง จ. เพชรบุรี และในโอกาสเดียวกันอาสาสมัครจังหวัดเพชรบุรีได้ร่วมกันเดินรณรงค์เพื่อรับบริจาคเงินและวัสดุสิ่งของเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี


นายสมภร ทัพนาค

31 มกราคม 2554

แนวทางปฏิรูปการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อปฏิรูปประเทศไทย

เพื่อให้การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศ เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม ในสังคม สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนตามหลักการข้างต้น เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน หรือเครือข่าย ทสม. ซึ่งเป็นผู้นำชุมชนที่เห็นถึงความสำคัญในการเข้ามาร่วมบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมใน ท้องถิ่น และทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายครอบคลุมทั้ง ๗๕ จังหวัดทั่วประเทศ จึงได้จัดทำข้อเสนอเพื่อปฏิรูปการจัดการทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศ ดังนี้

1. ส่งเสริมการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบนฐานชุมชน

1.1 กำหนดให้มีแหล่งผลิตอาหารที่ปลอดภัยของประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร 1 ตำบล 1 แหล่งผลิตอาหาร ที่มั่นคงของชาติ โดยให้ชุมชนเป็นผู้ผลิตภายใต้บริบทของชุมชน

1.2 กำหนดให้มีศูนย์พิทักษ์รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชุมชน เพื่อให้ชุมชนเกิดการเรียนรู้ และเป็นหน่วย กำหนดในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่นชุมชนโดยชุมชน

1.3 สนับสนุนให้มีกลไกความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคประชาชนและองค์กรเอกชนระดับต่างๆ โดยมีสัดส่วนที่เท่าเทียมกัน เพื่อเป็นกลไกการทำงานร่วมกัน ทั้งในการวางแผน ปฎิบัติการ และติดตาม สนับสนุนการดำเนินงานในด้านต่างๆ

1.4 ปฏิรูปกลไกยุติธรรมสิ่งแวดล้อมเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น โดยจัดทำธรรมนูญเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในระดับท้องถิ่น และพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแบบมีส่วนร่วม

1.5 ปฎิรูปแผนยุทธศาสตร์ท้องถิ่นเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของภาคีในท้องถิ่นสอดคล้องกับการกระจายอำนาจการตัดสินใจโดยชุมชนและศักยภาพทุนทางสังคม

1.6 ส่งเสริมการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โดยภูมิปัญญาและวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่น

2. ปฏิรูปกฎหมายด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

2.1 ทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ไม่สอดคล้องวิถีชีวิตและไม่เป็นธรรมกับชุมชน โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อให้สอดคล้องตามบริบทต่างๆ ของชุมชน และให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของชุมชนโดยชุมชนอย่างแท้จริง

2.2 ทบทวนกฎหมายกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเพิ่มกระบวนการมรส่วนร่วมในการตัดสินใจต่อการพัฒนา โดยกำหนดรูปแบบ ขั้นตอน กระบวนการมีส่วนร่วม และสัดส่วนของภาคประชาชนในคณะกรรมการ/กลไกการตัดสินใจต่างๆ

2.3 ให้ชุมชนท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจโดยกำหนดรูปแบบ ขั้นตอน กระบวนการมีส่วนร่วม และสัดส่วนของภาคประชาชนในคณะกรรมการ/กลไกการตัดสินใจต่างๆ

2.4 ให้มีการเก็บภาษีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นมาตรการในการแบ่งปันการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นธรรม โดยให้ชุมชนเป็นหน่วยในการบริหารจัดการและกำหนดมาตรการตามบริบทของชุมชน เช่น ภาษีการใช้น้ำ ภาษีการใช้ป่าไม้ และภาษีการใช้ที่ดิน เป็นต้น

2.5 ผลักดันให้เกิดการจัดทำนโยบายสาธารณะ/กฎหมาย/ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึง/ใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นธรรม เช่น กฎหมายทรัพยากรน้ำ กฎหมายการคุ้มครองและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีส่วนร่วม เป็นธรรมและมีธรรมาภิบาล

2.6 ผลักดันกฎหมายการจัดเก็บภาษีที่ดิน ภาษีมรดกในอัตราก้าวหน้า ปรับโครงสร้างภาษีที่เอื้อต่อผู้มีรายได้น้อย เช่น จัดเก็บภาษีปุ๋ยและสารเคมีที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จากบริษัทผู้ผลิตและผู้ประกอบการจัดสรรให้เกษตรกรและประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

2.7 ทบทวนโครงการพัฒนาที่มีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน ขัดต่อหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน และประชาชนไม่มีส่วนร่วม

3. ปฏิรูปองค์กรและกลไกการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

3.1 สนับสนุนการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รองรับแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศไทย โดยให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เชิงประเด็นพื้นที่ และจำแนกตามประสบการของเครือข่ายองค์กรชุมชน

3.2 ปฏิรูประบบและกลไกด้านความมั่นคงทางการเงินในการส่งเสริมการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น โดยบูรณาการกลไกด้านการเงินในรูปของกองทุนสิ่งแวดล้อมชุมชนโดยให้เกิดการบริหารจัดการกองทุนโดยชุมชนท้องถิ่นและคณะกรรมการชุมชน

3.3 ปรับปรุงการบริหารจัดการท้องถิ่น และจัดทำผังเมืองให้สอดคล้องกับฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใต้บริบทชุมชน

จัดทำข้อเสนอโดย

ทีมวิชาการ ทสม. 53”

ทสม. รักษ์น้ำ รักษ์ป่า รักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อพ่อหลวง

23 มกราคม 2554

การบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม "การบริโภคสีเขียว"

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้กำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ การบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม "การบริโภคสีเขียว" และได้กำหนดจัดโครงการทบทวนเป้าหมาย กลยุทธ์ ผลผลิต กิจกรรม และตัวชี้วัด ประจำปีงบประมาณ 2554 ครั้งที่ 3 ประชุมระดมความคิดเห็นผู้รับบริการและผู้มีส่วนไดส่วนเสีย โดยมีพื้นที่นำร่อง 2 จังหวัดคือ กรุงเทพมหานครและจังหวัดเพชรบุรี ณ โรงแรม ที.เค. พาเลซ ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ ในระหว่างวันที่ 19-21 มกราคม 2554