5 กรกฎาคม 2552

แสงอาทิตย์แรกบนเขากระทิง


  • ในปีนี้พวกเรามีนัดกันว่าจะขึ้นสำรวจความสวยงามของเขากระทิง ซึ่งหลาย ๆ คนที่ได้ขึ้นไปชมแล้วกลับมาเหล่าถึงความสวยงามให้ฟัง พวกเราจึงนัดที่จะขึ้นเขากระทิงกันในปีนี้ และเราสามารถร่วมตัวกันได้ในวันที่ 6 มกราคม 2552 ได้ฤกษ์งามยามดีที่จะพากันขึ้นเขากระทิง เรารวมตัวกันได้ 16 ชีวิตซึ่งมาจากหลายหลากพื้นที่ ดังนี้ ดต. ประเสริฐ กลิ่นเกลี้ยง นายก อบต. หนองหญ้าปล้อง, นายนิวัฒน์ มั่นหมาย, นายชัยวัฒน์ ชาติปรีชา จาก ทสม. เพชรบุรี, ลุงสมพล กล้าหาญ, ลุงพิทักษ์ แสงแสน, นายธนภูมิ แสงแสน จากบ้านพุไทร, นายสัมฤทธิ์ ฟั่นคำสอน, นายธวัต คำสุข, นายประสิทธิ์ หมันมณี, นายสุชาติ นิลนวล จาก อบต. หนองหญ้าปล้อง, นายไพโรจน์ นิ่มวาด, นายเรือง อินเขาย้อย, นายสุชาติ เหี้ยมหาญ จากบ้านหนองไผ่, นายเสน่ห์ แจ้งเรือง, นายสนิท หนูทอง และลุงสงคราม เสนะโลหิต ซึ่งเป็นผู้นำทาง จากบ้านหนองหญ้าปล้อง เรานัดรวมตัวกันที่บ้านลุงสงครามแล้วให้รถยนต์จาก อบต. หนองหญ้าปล้องไปส่งที่บริเวณทางขึ้นเขากระทิงทางด้านหน้าที่ว่าการอำเภอหนองหญ้าปล้อง
  • เขากระทิงเป็นพื้นที่เขาเดี่ยวตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลหนองหญ้าปล้อง อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี เป็นพื้นที่ป่าสงวนป่าหนองหญ้าปล้อง ซึ่งมีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 550 เมตร มียอดที่สูงที่สุดสูง 559 เมตร และได้ชื่อว่าเป็นเขาเดี่ยวที่สูงที่สุดในจังหวัดเพชรบุรี มีลักษณะเป็นเขาที่มีรูปสามเหลี่ยมมียอดเขาด้านข้าง 4 ด้านซึ่งมีชื่อเรียกดังนี้
  • ยอดเขาผาแดง มีสัญลักษณ์ที่สำคัญคือหน้าผาหินสีแดง ซึ่งสามารถมองเห็นได้ชัดเจนจากบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอหนองหญ้าปล้อง ยอดเขาด้านนี้สามารถมองเห็นพื้นที่อำเภอหนองหญ้าปล้องได้เกือบทั้งหมด มองเห็นพื้นที่เขื่อนแม่ประจันต์ในมุมสูงได้อย่างสวยงามมาก
  • ยอดกระโจม เป็นยอดที่มีความสูงที่สุดของเขากระทิง อยู่ทางด้านทิศตะวันออก สามารถ มองพระอาทิตย์ขึ้นได้อย่างสวยงาม สมามรถมองเห็นพื้นที่ของจังหวัดเพชรบุรีในหลายอำเภอ เช่น อำเภอเขาย้อย อำเภอบ้านแหลม อำเภอเมือง เป็นต้น ในวันที่ท้องฟ้าสดใส มีคนเคยบอกว่าสามารถมองเห็นเรือสินค้าในแถบท่าเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ซึ่งอยู่อีกฝากหนึ่งของทะเลอ่าวไทย
  • ยอดผาด่าง เป็นยอดผาหิน มีพื้นที่หินถล่มจนมองเห็นเป็นหน้าผาหินขาวได้ในระยะไกล มีหินก้อนใหญ่ ที่สามารถนั่งชมวิวได้อย่างสวยงาม มองเห็นพื้นที่ตำบลท่าตะคร้อ อำเภอหนองหญ้าปล้อง ในช่วงเช้าสามารถมองเห็นทะเลหมอก
  • ยอดทโมน เป็นยอดที่ยื่นออกมาด้านหน้า ทางด้านทิศตะวันตก ซึ่งเป็น 2 ยอดที่สามารถมองเห็นได้จากทางด้านอำเภอหนองหญ้าปล้อง คู่กับยอดผาแดง
  • เขากระทิงได้ชื่อมาจากรูปร่างที่มีลักษณะเหมือนกระทิงนอนหมอบ และมีเจ้าป่าเจ้าเขาคือเจ้าพ่อเขากระทิง ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของคนอำเภอหนองหญ้าปล้อง ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ยังคงนิยมเรียกเขากระทิงว่า “เขาเจ้าคุณพ่อ” หรือ “เขาคุณพ่อ” ในหมู่บ้านต่าง ๆ และบริเวณรอบเขากระทิงนี้จะมีศาลเจ้าพ่อเขากระทิง ที่ชาวบ้านที่ให้ความเคารพนับถือ สร้างขึ้นอยู่ในหมู่บ้านและพื้นที่ต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 50 ศาล และมีประเพณีการเลี้ยงศาลกันในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุก ๆ ปี
  • 9.30 น. ของวันที่ 6 มกราคม พวกเราเริ่มเดินทางขึ้นเขากระทิง บริเวณที่เรียกว่าต้นโพธิ์ใหญ่ ซึ่งมีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่กลางไร่สับปะรดของชาวบ้าน (ขอบคุณเจ้าของไร่สับปะรดที่ยังไม่โคนโพธิ์ต้นนี้ทิ้ง) มีเส้นทางให้พวกเราเดินขึ้นเขาไปตามร่องน้ำ ไต่สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ โดยไม่เหนื่อยมากนัก เราไปหยุดพักกันครั้งแรกบริเวณก้อนหินใหญ่ ในเวลา 10.00 น. และหยุดพักครั้งที่ 2 บริเวณลานหินกลม ซึ่งจะเป็นลานหินสีดำ ในเวลา 11.00 น. จากนั้นก็เดินขึ้นถึงสันเขากระทิง บริเวณที่เรียกว่าป่าเต็งรัง ในประมาณ 11.30 น. สรุปว่าเราใช้เวลาในการเดินทางจากตีนเขาจนถึงสันเขาประมาณ 2 ชั่วโมง จากนั้นเราก็พากันเดินทางไปยังบริเวณยอดผาแดง ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 500 เมตร เราใช้เวลาชมวิว ถ่ายภาพ และส่งสัญญาณต่าง ๆ ให้คนด้านล่าง ในบริเวณนี้จะมีสัญญาณโทรศัพท์มือถือของทุกระบบอย่างชัดเจน เราสามารถมองเห็นพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ของอำเภอหนองหญ้าปล้อง มองเห็นผืนป่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ที่อยู่ทางทิศตะวันตกของอำเภอหนองหญ้าปล้อง มองเห็นวิวเขื่อนแม่ประจันต์ได้อย่างสวยงามไปจนสุดเขตของอ่างเก็บน้ำทุกด้าน
  • เราพักกินอาหารกลางวันกันอย่างเอร็ดอร่อยกันบริเวณนี้ และออกเดินทางไปตามสันเขาเพื่อไปยังผากระโจม ซึ่งเป็นจุดที่เราจะไปตั้งที่พักค้างแรม ในเวลาประมาณ 13.00 น. บนสันป่าเขากระทิงเป็นพื้นที่ราบ เป็นผืนป่าไม้ไผ่นวล ไม้เต็งรัง ไม้พะยอม และไม้อื่น ๆ ซึ่งยังคงสภาพป่าที่สมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นป่าเห็ดโคนแหล่งใหญ่ ในฤดูฝน การเดินทางของเราสามารถเดินกันได้อย่างสะดวก มีเดินขึ้นเนินบ้างเพียงเหล็กน้อย และมีลมพัดอย่างเย็นสบาย ทำให้การเดินทางไม่รู้สึกเหนื่อยเลย ในบ้างครั้งเราก็ต้องเดินลุยป่ารกบ้าง เช่นตอนเดินผ่านป่าต้นหวาย ป่าต้นพอง และป่าดิบ ที่มีต้นไม้นานาพันธุ์ แต่เราก็ต้องเสียดายที่ไม้ที่มีคุณค่าหลาย ๆ พันธุ์ต้องสูญพันธุ์ไปจากการตัดทำลายของชาวบ้าน เช่น มะค่าโมง ตะเคียนทอง ประดู่ชิงชัน ไม้แดง ยางดง ประดู่ส้ม ตะแบก เป็นต้น ลุงครามบอกว่าสมัยที่แกยังเด็ก ๆ ต้นไม้เหล่านี้มีเต็มเขากระทิงไปหมด แต่ปัจจุบันก็ยังคงมีต้นไม้ใหญ่ ๆ เหลืออยู่อีกหลายต้น มีต้นไม้ที่กำลังเติบโต มีสภาพป่าที่น่าหวงแหน อนุรักษ์ อีกมากมาย บนสันเขากระทิงตามรอยต่อของแต่ละยอดเขามีพื้นที่มากประมาณ 5 ตารางกิโลเมตร มีสภาพเป็นดินร่วนปนหิน เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของต้นไม้ทุกประเภท เราใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมงก็ถึงยอดผากระโจม ซึ่งลุงครามผู้นำทางของเราบอกว่าที่เรียกว่าผากระโจมก็เพราะได้ชื่อมาจากการที่ชาวเรือในจังหวัดเพชรบุรีและสมุทรสงครามใช้ยอดเขาลูกนี้เป็นที่สังเกตในเวลาที่จะเดินเรือเข้าฝั่ง ในลักษณะเดียวกับกระโจมไฟหรือหอประภาคาร แต่เป็นกระโจมไฟธรรมชาติ ยอดเขากระทิงลูกนี้เลยได้ชื่อว่ายอดกระโจม ซึ่งเป็นยอดที่สูงที่สุดบนเขากระทิง อยู่ทางด้านตะวันออกของลูกเขา พื้นที่เป็นป่าเต็งป่ารัง มีลมพัดแรงมาก ทำให้ไม่มีต้นไม้สูงมากนัก ลุงครามเล่าให้ฟังว่าพื้นที่บริเวณนี้ทางกรมป่าไม้เคยใช้เป็นพื้นที่ตั้งหมุดสำรวจป่า ในปี พ.ศ. 2500 ซึ่งยังคงมีหลักฐานเป็นหมุดคอนกรีตฝังอยู่ และได้ทำการตัดต้นไม้ในบริเวณนี้ออกทั้งหมด จนเป็นพื้นที่โล่ง ทำให้ต้นไม้ที่เห็นในปัจจุบันของบริเวณนี้มีอายุแค่เพียงประมาณ 50 ปี จึงยังไม่โตมากนัก
    พวกเราตั้งที่พักกันบริเวณนี้ และสร้างจุดที่จะถ่ายภาพพระอาทิตย์ขึ้นกันบนต้นไม้ หลังจากนั้นเราก็หุงอาอาหารกินกันอย่างสนุกสนาน โดยหาฟืนซึ่งเป็นไม้แห้งตามบริเวณไหล่เขาได้อย่างมากมาย และในเวลา 19.00 น. เราก็ได้มีเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในเรื่องของการร่วมกันอนุรักษ์ป่าเขากระทิง และการพัฒนาป่าเขากระทิงเพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดเพชรบุรี เราพูดคุยกันท่ามกลางกลองไฟที่ลุกโจนให้ทั้งแสงสว่างและความอบอุ่น มีประธานเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) จังหวัดเพชรบุรี (นายนิวัฒน์ มั่นหมาย) เป็นคนเปิดประเด็นและดำเนินรายการ มีท่านนายก อบต. หนองหญ้าปล้อง (ดต. ประเสริฐ กลิ่นเกลี้ยง) เป็นผู้เสนอนโยบายในการพัฒนาเขากระทิงเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ เป็นจุดชมวิวที่สวยงาม ของจังหวัด พวกเราทั้ง 16 ชีวิตได้พูดคุยกันถึงแนวทางต่าง ๆ ตลอดจนประวัติในเรื่องราวของเขากระทิง กันอย่างเพลิดเพลินจนเวลาเกือบเที่ยงคืนจึงได้แยกย้ายกันไปพักผ่อน
  • 4 นาฬิกาของวันใหม่จึงมีคนลุกขึ้นมาเติมฟืนให้กองไฟลุกอีกครั้ง หลายคนตื่นมาชงกาแฟกิน เตรียมตัวเพื่อถ่ายภาพพระอาทิตย์ขึ้น ซึ่งวันนี้ท้องฟ้าก็เปิดไม่มีเมฆหมอกมากนัก พวกเราสมหวังกับการรอคอย พี่ชัยวัฒน์ซึ่งเป็นช่างภาพที่ถ่ายภาพมาแล้วเกือบทั่วประเทศบอกว่า ภาพพระอาทิตย์ขึ้นของเราสวยไม่แพ้ที่ใด ๆ เลย พวกเราหลายคนสมหวังกับ “แสงอาทิตย์แรกบนเขากระทิง”
  • จากนั้นพวกเราก็เก็บข้าวของออกเดินทางเพื่อไปยังผาด่าง และเดินทางลงจากเขากระทิงทางด้านนั้น เราออกเดินทางเวลา 7.30 น. ผ่านป่าเต็งป่ารังบนสันเขากระทิงมายังผาด่าง ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง จึงมาถึงผาด่าง ซึ่งเป็นบริเวณที่มีก้อนหินใหญ่น้อย มากมาย มีจุดไต่เขาที่สวยงาม มีพันธุ์ไม้ที่ขึ้นตามร่องหินที่กำลังออกดอกสวยงาม มีลานหินขาวที่เป็นพื้นที่หินถล่ม เป็นวิวที่สวยงามไปอีกแบบ จากนั้นเราก็ลงเขาตามเส้นทางร่องน้ำและเส้นทางที่ชาวบ้านใช้ขึ้นเขา ลำบากบ้างบางจุด แต่ก็สามารถลงมาได้อย่างปลอดภัยกันทุกคน สามารถมาเราเรื่องราวต่าง ๆ กันได้อย่างสนุกสนานโดยเฉพาะท่านนายกฯ ซึ่งใช้วิธีลงเขาโดยการนั่งลื่นสไลด์เดอร์ลงมา หลายคนที่ขึ้นเขากระทิงกับพวกเราในวันนี้มีอายุมากแล้ว เช่นลุงพิทักษ์ ลุงสมพล อายุ 70 แล้วทั้งคู่ ลุงคราม 65 ปี ท่านนายก 60 ปี แต่ก็ใจสู้เดินขึ้นเขาและกลับลงมาได้อย่างสวัสดิภาพทุกคน
  • จากหลายความคิดเห็นหลายมุมมองของทั้ง 16 ชีวิต ในครั้งนี้เราต่างลงความคิดเห็นพ้องกันว่า พื้นที่ป่าเขากระทิงมีความสวยงาม และยังทรงคุณค่า ต้องร่วมกันอนุรักษ์ดูแล และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ซึ่งหลายศักยภาพที่ทุกคนมองเห็น โดยเฉพาะจุดชมวิวต่าง ๆ ทั้ง 4 จุด จะเป็นจุดชมวิวที่สวยงามมากทั้งกลางวัน และกลางคืน ตลอดจนการมองทิวทัศน์ที่ต่าง ๆ ของจังหวัดเพชรบุรีจากมุมที่ได้ชื่อว่าสูงที่สุดในจังหวัด

( คลิ๊กเพื่อดูภาพอื่น ๆ )