6 ตุลาคม 2552

กิติณรงค์ เกิดรอด คนเพชรรักถิ่น คนจริงรักแผ่นดิน


กิติณรงค์ เกิดรอด คนเพชรรักถิ่น คนจริงรักแผ่นดิน

จากคำนิยามของ สว.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ สว. จังหวัดเพชรบุรี

นายกิติณรงค์ เกิดรอด เกิดเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2512 ที่บ้านเลขที่ 8 หมู่ 4 บ้านห้วยกวางจริง ต. พุสวรรค์ อ. แก่งกระจาน จ. เพชรบุรี เป็นบุตรนายล้อม – นางลอย เกิดรอด มีพี่น้องรวมกัน 3 คน การศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนบ้านห้วยกวางจริง มัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 (ม.6) จาการศึกษานอกโรงเรียน กศน. อ. แก่งกระจาน ปัจจุบันกำลังศึกษาระดับปริญญาตรี ในคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

นายกิติณรงค์ เกิดรอด หรือในชื่อเรียกว่า “รงค์” เป็นคนรักป่าและช่วยดูแลพื้นป่าในวัดห้วยกวางจริงมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ๆ และเป็นแกนนำชาวบ้านในการช่วยกันดูแลรักษาผืนป่าห้วยกวางจริง ป่าพุสวรรค์ ป่าเขาปุ้ม เขาแด่น ตลอดจนป่าในเขตยางน้ำกลัดใต้ เรื่อยมา จนปี 2543 ได้เขามาทำงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างจริงจัง

ในปี 2545 ได้ร่วมกับชาวบ้านพุตูม ต. ห้วยลึก อ. บ้านลาด จ. เพชรบุรี ชาวบ้านหมู่ใกล้เคียงอื่น ๆ และชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเพชรบุรี ที่มี อ. สุมล สุตะวิริยวัฒน์ เป็นประธาน ในการคัดค้านการบุกรุกที่ป่าสงวนในเขตบ้านพุตูม จำนวน 500 ไร่ เพื่อนำไปจัดทำเป็นที่ทิ้งและกำจัดขยะของเทศบาลเมืองเพชรบุรี โดยมีนักการเมืองใหญ่ที่มีอิทธิพลในจังหวัดเป็นผู้เข้าไปดำเนินการจะจัดทำ จนสามารถยุติการดำเนินโครงการดังกล่าวได้ กิติณรงค์พูดว่า “ป่าเขาแด่น ป่าพุตูม ถูกทำลายลงไปมากแล้ว ยังจะนำขยะมหาศาลมาทิ้งใส่อีก จะไม่ให้ป่าได้มีโอกาสฟื้นตัวบ้างเลยหรือ

ในปี 2548 ได้ร่วมกับกลุ่มอนุรักษ์พื้นที่ต้นน้ำลำธารและสิ่งแวดล้อม อ. หนองหญ้าปล้อง ที่มีนายนิวัฒน์ มั่นหมายเป็นประธารกลุ่ม ในการณรงค์และให้ความรู้กับชาวบ้านในการประกาศพื้นที่สีม่วงหรือพื้นที่เขตอุตสาหกรรมใน อ. หนองหญ้าปล้อง ได้ชี้ให้เห็นถึงความไม่เหมาะสมของการมีพื้นที่ประกอบการอุตสาหกรรมในพื้นที่ อ. หนองหญ้าปล้อง ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร โดยในวันที่ 25 มกราคม 2549 ได้นำชาวบ้านประมาณ 1,000 คนในเขตพื้นที่ อ. หนองหญ้าปล้อง อ. แก่งกระจาน อ. บ้านลาด และ อ. บ้านแหลม มาประท้วงหน้าศาลากลางจังหวัดเพชรบุรีและยื่นหนังสือคัดค้านการประกาศพื้นที่สีม่วงหรือพื้นที่อุตสาหกรรม ในเขต ต. ยางน้ำกลัดใต้ อ. หนองหญ้าปล้อง โดยให้คงพื้นที่เป็นพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่ในเขตชนบทและเพื่อการเกษตร ซึ่งต่อมาวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 คณะอนุกรรมการผังเมืองระดับจังหวัด ได้มีมติยกเลิกการกำหนดพื้นที่สีม่วง ในอำเภอหนองหญ้าปล้อง โดยให้คงเป็นพื้นที่สีเขียวดังเดิม นับเป็นชัยชนะของชาวบ้านในการคัดค้านการดำเนินงานของรัฐ ที่ชาวบ้านในพื้นที่ไม่เห็นด้วยและมองเห็นถึงมลพิษต่าง ๆ ที่จะเกิดตามมา

ในปี 2549 ได้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) จังหวัดเพชรบุรี ได้ร่วมกันดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของจังหวัดเพชรบุรี อย่างกว้างขวาง กิติณรงค์ถือเป็นหัวหอกของ ทสม. เพชรบุรี ที่ต้องต่อสู้กับการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน และการตัดไม้ทำลายป่า ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี โดยเฉพาะป่าในเขตพื้นที่ อ. แก่งกระจาน อ. หนองหญ้าปล้อง

ในปี 2551 วุฒิสภาได้แต่งตั้งให้นายกิติณรงค์ เกิดรอด เป็นอนุกรรมาธิการทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า วุฒิสภา ต้องไปประชุมและติดตามงานในการดูแลเรื่องราวการร้องทุกข์ในการบุกรุกพื้นที่ป่า บุกรุกตัดไม้ทำลายป่าและสัตว์ป่า ในพื้นที่ป่าสงวนและพื้นที่ไม่เหมาะสมต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยมีเบี้ยประชุมเพียงครั้งละ 500 บาท ซึ่งคงไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในการเดินทาง แต่กิติณรงค์ก็เต็มใจที่จะทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มหัวใจ ทุ่มทั้งแรงกาย แรงใจ ให้กับงานการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

แนวผืนป่าในเขตตำบลพุสวรรค์ วังจันทร์ แก่งกระจาน สองพี่น้อง ยางน้ำกลัดเหนือ ยางน้ำกลัดใต้ ท่าตะคร้อ หนองหญ้าปล้อง เป็นพื้นที่ที่กิติณรงค์รู้จักดี ใครมาบุกรุกทำลายเขาจะเข้าไปคอยคัดค้าน ขัดขวาง ตลอดจนชี้ช่องทางให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ และพนักงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เข้าไปป้องปราม และจับกุมในรายที่ไม่เชื่อฟัง จนผู้มีอิทธิพลและนายทุนต่าง ๆ ในเขตพื้นที่ดังกล่าวรู้จักเขาดี แต่ก็มีบางคนคิดร้ายต่อเขา

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2552 เขาขับรถกระบะอีซูซุ สีบรอนซ์เงิน ทะเบียน บฉ 3831 เพชรบุรี ไปร่วมงานศพที่วัดห้วยกวางจริง ระหว่างทางพบรถบรรทุก 10 ล้อบรรทุกไม้เบญจพรรณเกือบเต็มคันมุ่งหน้าออกมาจากป่าสงวนแห่งชาติแก่งกระจานผ่านวัด เขาตัดสินใจเลี้ยวรถขับตามไปดูว่า รถบรรทุกคันนี้จะเอาไม้เบญจพรรณไปที่ไหน โดยใช้ถนนสายหนองหญ้าปล้อง -ห้วยยางโทน เขาคิดว่าไม้ที่บรรทุกมานี้เป็นไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ที่ลักลอบตัดโดยผิดกฎหมายด้วยหรือไม่ ระหว่างติดตามเขาโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่สำนักบริหารจัดการป่าไม้ที่ 10 ราชบุรี ให้สกัดจับรถบรรทุกคันดังกล่าว แต่ได้รับคำตอบว่าไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากไม้เบญจพรรณยากต่อการตรวจสอบแหล่งที่มา กระทั่งรถวิ่งเข้าไปในด่านชั่งน้ำหนักของเอกชน ม.รุ่งโรจน์ ถ.เพชรเกษม ต.ดอนทราย อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี เขาจึงเลี้ยวรถกลับ ระหว่างนั้นมีรถกระบะนิสสัน ฟรอนเทียร์ 4 ประตู สีดำ ไม่ทราบทะเบียนขับตามขึ้นประกบ แล้วคนขับก็ชักอาวุธปืนออกมายิง เขาถูกยิงเข้าบริเวณหน้าอก ข้างลำตัวด้านขวา คอ และสะโพก ได้รับบาดเจ็บสาหัส ต้องเข้ารักษาตัวอยู่นานที่ รพ. ศูนย์ราชบุรี ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภอ. ปากท่อ ได้สืบทราบว่าผู้ต้องหาคดียิงนาย กิตติณรงค์ เกิดรอด คือนายจิรายุทธ เสนีย์วงศ์ หรือ “เสี่ยโย” เจ้าของลานไม้ห้วยกวางจริง ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 220 หมู่ 6 บ้านในคลอง ต.พุสวรรค์ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี สอบถามทราบว่าลานไม้แห่งนี้นายจิรายุทธได้เช่าพื้นที่จากนาย ยอม สดใส อายุ 51 ปี เป็นการเช่ากันเองโดยไม่ได้แจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินทราบตามระเบียบของการทำกิจการลานไม้ นอกจากนี้นายจิรายุทธยังใช้ลานไม้แห่งนี้เป็นสถานที่รับซื้อไม้เบญจพรรณจากชาวบ้าน ซึ่งไม้เบญจพรรณบางส่วนตัดฟันมาจากป่าสงวนยางน้ำกลัดเหนือ-ยางน้ำกลัดใต้อันเป็นการละเมิด พรบ.ป่าไม้ โดยก่อนหน้านี้นายกิตติณรงค์เคยแจ้งเบาะแสการลักลอบซื้อไม้ผิดกฎหมายดังกล่าวกับเจ้าหน้าที่จนเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้บุกเข้าจับกุมดำเนินคดีกับนายจิรายุทธมาแล้ว

นายบุญสืบ สมัครราช ผู้อำนวยการส่วนป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 10 (ราชบุรี) เปิดเผยว่า จากผลงานการทำงานเพื่อช่วยเหลือด้านการดูแลรักษาป่าและปกป้องทรัพยากรป่าไม้ของชาติขณะนี้นาย สมชัย เพียรสถาพร อธิบดีกรมป่าไม้ได้เสนอชื่อนายกิตติณรงค์ ให้เป็นบุคลที่เหมาะสมในการเข้ารับรางวัล “ผู้ทำคุณงามความดีต่อกรมป่าไม้ ”แล้ว ส่วนอาการของกิติณรงค์ก็ปลอดภัยดีแล้ว แต่ก็ยังคงมีลูกกระสุนปืนฝังอยู่ที่บริเวณสะโพกต้นขาขวา ทำให้ยังคงมีอาการขาชา เดินไม่ค่อยตรง ต้องทำกายภาพและนวดอยู่อีกสักระยะหนึ่ง

กิตติณรงค์ เกิดรอด แม้เกือบจะเอาชีวิตไม่รอดจากการทำหน้าที่ แต่เมื่อถามถึงอนาคตในฐานะอนุกรรมาธิการทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่านับจากนี้ เขายืนยันเสียงหนักแน่นโดยไม่ต้องคิดเลยว่า " ถึงแม้ผมจะโดนยิงครั้งนี้ มันไม่คุ้มกับเบี้ยประชุมที่ได้ครั้งละ 500 บาท แต่ผมก็จะทำหน้าที่รักษาทรัพยากรของชาติต่อไป ผมทำเพราะใจผมรัก และผมจะทำอย่างเต็มที่ " นี่คงมากกว่าคำมั่นสัญญา........กิติณรงค์ ยังคงทำหน้าที่ของตนเองอยู่อย่างใส่ใจ เขาไม่เคยย่อท้อ ไม่เคยเกรงกลัว คนชั่วที่จ้องทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เราก็คงจะได้เห็นเขาทำหน้าที่ผู้พิทักษ์ผืนป่าไปอีกยาวนาน

คลิบวีดีโอประวัติและผลงานของกิติณรงค์

โครงการกระทิงน้อยนักอนุรักษ์

  • สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสจ.) จังหวัดเพชรบุรีร่วมกับคณะกรรมการเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม. ) จังหวัดเพชรบุรี จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ "โครงการกระทิงน้อยนักอนุรักษ์" เพื่อเป็นการสร้างองค์ความรู้ด้านทรัพยากรธรรมธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและการปลูกจิตสำนึก จิตอาสา ให้กับน้อง ๆ เยาวชน ในอำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี โดยจัดอบรมเมื่อ วันที่ 26-27 กันยนยน 2552 ณ โรงเรียนบ้านพุพลู ต. ยางน้ำกลัดใต้ อ. หนองหญ้าปล้อง จ. เพชรบุรี

นายนิพล ไชยสาลี หัวหน้ากลุ่มงานสิ่งแวดล้อม ทสจ. เพชรบุรี ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน


(คลิ๊กเพื่อดูรูปภาพอื่น ๆ)
  • โดยมีพี่นิวัฒน์ มั่นหมาย จาก ทสม. เพชรบุรี เป็นผู้ดำเนินการอบรม และวิทยากรให้องค์ความรู้ด้านต่าง ๆ กับเด็ก ๆ
  • ทีมพี่เลี้ยงจากศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา โรงเรียนแก่งกระจานวิทยา นำโดย อ. กชพรรณ ลาพิมพ์ เป็นทีมวิทยากรและพี่เลี้ยง ในเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ การสันทนาการและให้ความสนุกสนานละลายพฤติกรรมต่าง ๆ
  • ลุงสงคราม เสนะโลหิต ปราชญ์ชาวบ้านจากบ้านหนองหญ้าปล้อง เป็นวิทยากรให้ความรู้เรื่องต้นไม้และสัตว์แก่เด็ก ๆ ว่าต้นไม้ต้นใดมีประโยชน์มีโทษอย่างไร ต้นใดคนเราสามารถทำมากินได้และต้นใดเป็นพิษ
  • อ. บุญรอด เขียวอยู่ จากโรงเรียนบ้านลาดวิทยา มาสอนเทคนิคการวาดรูปให้เด็ก ๆ และให้เด็ก ๆ ประกวดวาดภาพสิ่งแวดล้อมที่เห็น
  • อ. สุริยา ปิ่นหิรัญ และ จ.ส.ต. ธนวิน ปิ่นหิรัญ จาก ทสม. เพชรบุรี เป็นวิทยากรปลูกจิตสำนึก จิตอาสาให้เด็ก ๆ
  • พระอาจารย์สุวัจน์ ชยกาโร (หลวงพี่แฟร้งค์) จากวัดเพชรพลี จังหวัดเพชรบุรี เป็นผู้มาสอนธรรมะ และปลูกจิตสำนึก จิตอาสา ตลอดจนประกอบพิธีรวมใจ พิธีเทียนให้กับเด็ก ๆ ในคืนวันเสาร์
  • ผู้ใหญ่เจน ป้อมสิงห์ เป็นวิทยากรด้านศาสนาให้กับเด็ก ๆ
  • การอบรมโครงการกระทิงน้อยนักอนุรักษ์ผ่านพ้นไปด้วยดี เด็ก ๆ สนุกสนานและได้ความรู้ตลอดเวลา 2 วัน 1 คืน ที่โรงเรียนบ้านพุพลู ทุก ๆ คน ให้คำมั่นสัญญาว่าจะดูแล และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปทั้งชีวิต

รายละเอียดโครงการ

5 ตุลาคม 2552

การประชุม ทสม. จังหวัดเพชรบุรี สัญจร ครั้งที่ 3/2552

  • คณะกรรมการ ทสม. จังหวัดเพชรบุรี ได้จัดประชุม สัญจร ครั้งที่ 3/2552 เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2552 ณ ห้องประชุมเล็ก เทศบาลตำบลบ้านแหลม อ. บ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี โดยมีนายไพบูลย์ ยิ้มแย้ม ให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดการการประชุมและให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของอำเภอบ้านแหลม และนายวัน เมฆอัคคี นายกเทศมนตรีตำบลบ้านแหลม ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น หลังจากนั้นนายนิวัฒน์ มั่นหมาย ประธานคณะกรรมการ ทสม. จังหวัดเพชรบุรี ได้ดำเนินการประชุมต่อไป
  • ประเด็นการประชุมหลักคือเรื่องของสถานการณ์ป่าชายเลนในเขตอำเภอบ้านแหลม โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมคือ คณะกรรมการ ทสม. จังหวัด เจ้าหน้าที่ ทสจ. และบุคคลในท้องถิ่น ดังนี้ อาทิ นายวัน เมฆอัคคี นายกฯ ผอ. รุฬ สำเภาทอง และอาจารย์ โรงเรียนบ้านแหลมวิทยา นายสมจิตร แก้วกาม ประธานกลุ่มรักษ์ป่าชายเลน ตำบลบางตะบูน หัวหน้าสามารถ ม่วงไหมทอง และทัวแทนจากสำนักจัดการทรัพยากรป่าชายเลนที่ 16 เป็นต้น และมีเครื่องให้คณะกรรมการพิจารณาลงมติ 2 เรื่องคือ การจัดประชุมสัญจรครั้งที่ 4/2552 ซึ่งที่ประชุมมีมติ ให้จัดในวันที่ 5 พ.ย. 52 ณ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนห้วยทรายเหนือ อ. ชะอำ จ.เพชรบุรี และการจัดทำโครงการ "กระทิงน้อยนักอนุรักษ์" ณ โรงเรียนบ้านพุพลู ต. ยางน้ำกลัดใต้ อ.หนองหญ้าปล้อง จ. เพชรบุรี ในวันที่ 26-27 กันยายน 2552
  • จากนั้นคณะกรรมการได้เดินทางไปดูป่าชายเลนและรับประทานอาหารกลางวันที่แหลมเหลว ปากแม่น้ำเพชรบุรี และที่สำนักสงฆ์....... ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าชายเหลนที่กำลังช่วยกันบูรณะให้สมบูรณ์

นายไพบูลย์ ยิ้มแย้ม นายอำเภอบ้านแหลม ให้เกียรติเป็นประธานเปิดประชุม


นายวัน เมฆอัคคี นายกเทศมนตรีเทศบ่านตำบลบ้านแหลม ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น


ผอ. รุฬ สำเภาทอง และนายนิวัฒน์ มั่นหมาย

บรรยากาศการประชุม


เจ้าที่ประจำป่าชายเลนบ้านแหลม (ลิงแสม)

บรรยากาศบริเวณปากแม่น้ำเพชรบุรี