31 มกราคม 2554

แนวทางปฏิรูปการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อปฏิรูปประเทศไทย

เพื่อให้การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศ เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม ในสังคม สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนตามหลักการข้างต้น เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน หรือเครือข่าย ทสม. ซึ่งเป็นผู้นำชุมชนที่เห็นถึงความสำคัญในการเข้ามาร่วมบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมใน ท้องถิ่น และทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายครอบคลุมทั้ง ๗๕ จังหวัดทั่วประเทศ จึงได้จัดทำข้อเสนอเพื่อปฏิรูปการจัดการทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศ ดังนี้

1. ส่งเสริมการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบนฐานชุมชน

1.1 กำหนดให้มีแหล่งผลิตอาหารที่ปลอดภัยของประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร 1 ตำบล 1 แหล่งผลิตอาหาร ที่มั่นคงของชาติ โดยให้ชุมชนเป็นผู้ผลิตภายใต้บริบทของชุมชน

1.2 กำหนดให้มีศูนย์พิทักษ์รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชุมชน เพื่อให้ชุมชนเกิดการเรียนรู้ และเป็นหน่วย กำหนดในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่นชุมชนโดยชุมชน

1.3 สนับสนุนให้มีกลไกความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคประชาชนและองค์กรเอกชนระดับต่างๆ โดยมีสัดส่วนที่เท่าเทียมกัน เพื่อเป็นกลไกการทำงานร่วมกัน ทั้งในการวางแผน ปฎิบัติการ และติดตาม สนับสนุนการดำเนินงานในด้านต่างๆ

1.4 ปฏิรูปกลไกยุติธรรมสิ่งแวดล้อมเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น โดยจัดทำธรรมนูญเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในระดับท้องถิ่น และพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแบบมีส่วนร่วม

1.5 ปฎิรูปแผนยุทธศาสตร์ท้องถิ่นเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของภาคีในท้องถิ่นสอดคล้องกับการกระจายอำนาจการตัดสินใจโดยชุมชนและศักยภาพทุนทางสังคม

1.6 ส่งเสริมการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โดยภูมิปัญญาและวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่น

2. ปฏิรูปกฎหมายด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

2.1 ทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ไม่สอดคล้องวิถีชีวิตและไม่เป็นธรรมกับชุมชน โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อให้สอดคล้องตามบริบทต่างๆ ของชุมชน และให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของชุมชนโดยชุมชนอย่างแท้จริง

2.2 ทบทวนกฎหมายกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเพิ่มกระบวนการมรส่วนร่วมในการตัดสินใจต่อการพัฒนา โดยกำหนดรูปแบบ ขั้นตอน กระบวนการมีส่วนร่วม และสัดส่วนของภาคประชาชนในคณะกรรมการ/กลไกการตัดสินใจต่างๆ

2.3 ให้ชุมชนท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจโดยกำหนดรูปแบบ ขั้นตอน กระบวนการมีส่วนร่วม และสัดส่วนของภาคประชาชนในคณะกรรมการ/กลไกการตัดสินใจต่างๆ

2.4 ให้มีการเก็บภาษีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นมาตรการในการแบ่งปันการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นธรรม โดยให้ชุมชนเป็นหน่วยในการบริหารจัดการและกำหนดมาตรการตามบริบทของชุมชน เช่น ภาษีการใช้น้ำ ภาษีการใช้ป่าไม้ และภาษีการใช้ที่ดิน เป็นต้น

2.5 ผลักดันให้เกิดการจัดทำนโยบายสาธารณะ/กฎหมาย/ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึง/ใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นธรรม เช่น กฎหมายทรัพยากรน้ำ กฎหมายการคุ้มครองและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีส่วนร่วม เป็นธรรมและมีธรรมาภิบาล

2.6 ผลักดันกฎหมายการจัดเก็บภาษีที่ดิน ภาษีมรดกในอัตราก้าวหน้า ปรับโครงสร้างภาษีที่เอื้อต่อผู้มีรายได้น้อย เช่น จัดเก็บภาษีปุ๋ยและสารเคมีที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จากบริษัทผู้ผลิตและผู้ประกอบการจัดสรรให้เกษตรกรและประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

2.7 ทบทวนโครงการพัฒนาที่มีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน ขัดต่อหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน และประชาชนไม่มีส่วนร่วม

3. ปฏิรูปองค์กรและกลไกการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

3.1 สนับสนุนการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รองรับแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศไทย โดยให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เชิงประเด็นพื้นที่ และจำแนกตามประสบการของเครือข่ายองค์กรชุมชน

3.2 ปฏิรูประบบและกลไกด้านความมั่นคงทางการเงินในการส่งเสริมการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น โดยบูรณาการกลไกด้านการเงินในรูปของกองทุนสิ่งแวดล้อมชุมชนโดยให้เกิดการบริหารจัดการกองทุนโดยชุมชนท้องถิ่นและคณะกรรมการชุมชน

3.3 ปรับปรุงการบริหารจัดการท้องถิ่น และจัดทำผังเมืองให้สอดคล้องกับฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใต้บริบทชุมชน

จัดทำข้อเสนอโดย

ทีมวิชาการ ทสม. 53”

ทสม. รักษ์น้ำ รักษ์ป่า รักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อพ่อหลวง