17 พฤศจิกายน 2552

การประชุม ทสม. จังหวัดเพชรบุรี สัญจรครั้งที่ 4/2552

  • คณะกรรมการ ทสม. จังหวัดเพชรบุรีได้จัดประชุม ทสม. จังหวัดเพชรบุรีสัญจร ครั้งที่ 4/2552 ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2552 ณ ศูนย์การเรียนรู้ ชุมชนห้วยทรายเหนือ (บ้านลุงสมใจ น้อยสะอาด....ประธานชุมชน) ต. ห้วยทรายเหนือ อ. ชะอำ จ. เพชรบุรี โดยมีนายไพบูลย์ กุณฑีทอง รองนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองชะอำ ให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดประชุม และนายนิวัฒน์ มั่นหมาย ประธานคณะกรรมการ ทสม. จังหวัดเพชรบุรี เป็นผู้ดำเนินการประชุม

นายไพบูลย์ กุณฑีทอง กล่าวเปิดประชุม

นายนิวัฒน์ มั่นหมาย ดำเนินการประชุม

  • ประเด็นหลักของการประชุมคือ การรับฟังและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาณการณ์ของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของพื้นที่อำเภอชะอำ โดยมีผู้นำชุมชนและองค์กรในเขตเทศบาลเมืองชะอำ และพื้นที่ใกล้เคียงเป็นผู้ให้ข้อมูลสถาณการณ์ แนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการบูรณาการการทำงานด้านการพิทักษ์ดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของ อ. ชะอำ และของ จ. เพชรบุรี

  • โรงเรียนเทศบาล 6 บ้านห้วยทรายเหนือ ได้นำเสนอโครงการธนาคารขยะ โดยให้นักเรียนทำการเก็บรวบรวมขยะในโรงเรียน และเก็บขยะจากที่บ้านมาขายให้ธนาคาร เมื่อรวบรวมขยะได้แล้วก็นำทำการคัดแยก โดยนำขยะเปียกหรือขยะที่ย่อยสลายได้ เช่นเศษอาหาร เศษพืชผัก ผลไม้ ใบไม้ใบหญ้า เป็นต้น ก็นำมาหมักเป็นปุ๋ยชีวภาพ เพื่อใช้ใส่บำรุงดิน บำรุงต้นไม้ในโรงเรียน ส่วนขยะแห้งก็นำมาคัดแยกเป็นหลาย ๆ ประเภท นำไปขายเป็นเงินให้เด็ก ๆ แต่ละคนมีเงินเพิ่มในสมุดบัญชีธนาคารของแต่ละคน ส่วนขยะบางชนิดก็นำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการประดิษฐ์สิ่งของ เครื่องใช้ต่าง ๆ ที่มีประโยชน์และก่อให้เกิดรายได้ เช่น ขวดน้ำพลาสติคต่าง ๆ นำมาประดิษฐ์เป็นกรวยเทียน ใช้บังลมไม่ให้เทียนดับ ใช้ในวันจุดเทียนถวายพระพร ในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีนาถ โดยใช้ในกิจกรรมของโรงเรียนและประดิษฐ์ขายให้กับหน่วยงานอื่น ๆ นอกจากนึ้ยังมีการนำกล่องนม และกล่องเครื่องดื่มต่าง ๆ นำมาสาน ทักทอเป็นกระเป๋าถือที่สวยงาม ที่ใส่กระดาษทิชชู ถังขยะ ดอกไม้ เป็นต้น
  • ในวาระการพิจารณามีประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
  • 1) การร่วมงานวันสิ่งแวดล้อมไทยและวัน ทสม. แห่งชาติ ในระหว่างวันที่ 2-4 ธันวาคม 2552 ณ เมืองทองธานี จ. นนทบุรี ซึ่งคณะกรรมการ ทสม. จังหวัดเพชรบุรี มีมติให้เข้าร่วมโดยนำ ทสม. แต่ละอำเภอเข้าร่วมงานจำนวน 10 คน และนำการแสดงหนังตลุงเพื่อสิ่งแวดล้อม ของศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา โรงเรียนแก่งกระจานวิทยา เข้าร่วมในการจัดนิทรรศการในครั้งนี้ด้วย
  • ซึ่งในครั้งนี้ทาง คณะกรรมการ ทสม. ระดับชาติ ได้จัดโครงการขี่จักรยานพิทักษ์โลก ลดหมอหควัน ลดโลกร้อน เป็นกิจกรรมร่วมในครั้งนี้ โดยเชิญชวนให้ผู้รักในการขี่จักรยานร่วมกันปั่นจักรยานจากภาคเหนือ 3 เส้นทาง คือ แม่ฮ่องสอน แม่สาย และน่าน ปั่นมารวมกันที่นครเด่นชัย จ. แพร่ แล้วรวมเป็นขบวนใหญ่ ปั่นมาที่เมืองทองธานี จ. นนทบุรี โดยมีกำหนดการเริ่มปั่นจากแม่ฮ่องสอน ในวันที่ 19 พ.ย. 52 จากแม่สาย ในวันที่ 23 พ.ย. 52 จากน่านในวันที่ 25 พ.ย. 52 กำหนดมาพบกันที่เด้นชัย ในวันที่ 26 พ.ย. 52 แล้วปั่นลงมาถึงเมืองทองธานีในวันที่ 1 ธ.ค. 52 โดยในแต่ละจุดพักทาง ทสม. จะมีกิจกรรมรณรงค์พิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในหลาย ๆ มิติ และมีการร่วมลงนามถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงใคร่ขอเรียนเชิญผู้รักในการปั่นจักรยานทุก ๆ ท่านสมัครเข้าร่วมกิจกรรมโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น เพียงแต่นำรถจักรยานไปเข้าร่วมตามจุดต่าง ๆ ที่ขบวนจักรยานปั่นผ่าน
  • 2) การหาแนวทางในการดำเนินการจัดประชุมภาคีเครือข่ายของผู้ทำงานด้านพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในจังหวัดเพชรบุรี โดยที่ประชุมมีมติให้ดำเนินการประสานงานกับทางจังหวัดในการจัดเวทีการประชุมและเชิญภาคีเครือข่ายต่าง ๆ โดยมี ทสม. เป็นแม่งานดำเนินการ
  • 3) การจัดเวทีประกาศเกียรติคุณผู้ทำความดีของเครือข่าย ทสม. จังหวัดเพชรบุรี คือ นายกิติณรงค์ เกิดรอด นายภรเทพ หงษ์ทอง และนายสงคราม เสนะโลหิต โดยที่ประชุมมีมติให้จัดเสวนาในมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ซี่งจะดำเนินการประสานและหาแนวทางการจัดในโอกาสต่อไป
  • 4) กำหนดการจัดประชุมสรุปผลการดำเนินงานในรอบปี 2552 และการวางแผนปฏิบัติงานในปี 2553 โดยที่ประชุมมีมติให้จัดประชุมในวันที่ 15 ธันวาตม 2552 ณ ห้องประชุม ทสจ. เพชรบุรี
  • 5) แนวทางการปฏิบัติงานร่วมกับคณะกรรมการ ชาติ ในเรื่องของการจัดตั้งสมาคม ทสม. ชาติ และการจัดตั้งกองทุน ทสม. ชาติ ที่เป็นนิติบุคคล ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ ทสม. จังหวัดเพชรบุรี เข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่าย กับ ทสม.ชาติ แต่ให้ ระดับจังหวัดดำเนินการของตนเองด้วย ไม่หวังพึ่งระดับชาติมากเกินไป



15 ตุลาคม 2552

คนดี นำทาง ปี 2552 จังหวัดเพชรบุรี

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2552 ที่ผ่านมา มีพิธีมอบรางวัลประกาศเกียรติคุณบุคคลทรงคุณค่า 76 คนดี นำทาง โดยเครือเนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป ณ โรงละคร อักษรา เธียร์เตอร์ อาคารคิง เพาร์เวอร์ ถ. พญาไท กรุงเทพฯ ซึ่งนายสงคราม เสนะโลหิต นักอนุรักษ์ธรรมชาติ วัย 66 ปี จาก อ. หนองหญ้าปล้อง จ. เพชรบุรี ได้ขึ้นรับรางวัลในนามของจังหวัดเพชรบุรี




นายสงคราม เสนะโลหิต เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2586 ที่บ้านท่าหอย ต. ทับคาง อ. เชาย้อย จ. เพชรบุรี เมื่อายุได้ 5 ขวบ พ่อแม่ได้ย้ายมาทำมาหากิน ที่บ้านหนองหญ้าปล้อง ซึ่งในขณะนั้นยังคงเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ขึ้นอยู่กับ อ. เขาย้อย และได้เข้าเรียนหนังสือจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ณ โรงเรียนบ้านหนองหญ้าปล้อง (อุดมวนา) และออกมาช่วยครอบครัวทำมาหากิน ในพื้นที่บ้านหนองหญ้าปล้อง โดยประกอบอาชีพทำไร่ หาของป่า ตัดไม้ ล่าสัตว์และช่างไม้ ต่อมาได้สมรสกับนางสำลี สระทองตรง มีบุตรด้วยกัน 4 คน และมีครอบครัวที่อบอุ่นมาตลอดจนถึงปัจจุบัน


นายสงครามเป็นแกนนำในการอนุรักษ์พื้นที่ป่าเขากระทิง ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นภูเขาเดี่ยวที่สูงที่สุดในจังหวัดเพชรบุรี พื้นที่ป่าเขากระทิงถูกบุกรุกทำลาย ทั้งการตัดไม้ การแผ่วทางที่ดินเพื่อทำการเกษตร จนในปัจจุบันเราสามารถมองเห็นการทำไร่สับปะรดในที่สูงตีนเขากระทิงได้จากหน้าที่ทำการ อ. หนองหญ้าปล้อง เป็นภาพที่หลาย ๆ คนมองเห็นแล้วเกิดความวิตกกังวล
ในการที่เขากระทิงจะต้องถูกบุกรุกจนเกือบหมดสภาพ นายสงครามและพรรคพวก เห็นว่าถ้ายังคงปล่อยไว้เช่นนี้ เขากระทิงจะต้องกลายเป็นเขาหัวโล้นแน่ ๆ เขาจึงได้เลิกอาชีพตัดไม้ ล่าสัตว์ และหันมารณรงค์ ให้คนอื่น ๆ หันมาช่วยกันอนุรักษ์ดูแลพื้นที่ป่าเขากระทิง "ตั้งใจจะอนุรักษ์ป่าผืนนี้ไว้ให้ได้ เพื่อเป็นมรดกให้กับลูกหลานในอนาคต ถึงแม้คนในท้องถิ่นจะไม่ค่อยให้ความร่วมมือด้วยก็ตาม ผมก็จะยังคงทำต่อไป เพื่อป่าจะได้อยู่กับลูกหลานต่อไป"
ปัจจุบันนายสงครามได้ร่วมกันก่อตั้งกลุ่มรักษ์พื้นที่ป่าเขากระทิง เพื่อเป็นแนวร่วมกับชาวบ้านในท้องถิ่นหนองหญ้าปล้อง ในการร่วมกันรณรงค์ให้มีการอนุรักษ์ ดูแล พื้นที่ป่าเขากระทิง กว่า 6,000 ไร่ และยังได้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ ทสม. อ. หนองหญ้าปล้อง จ. เพชรบุรี เพื่อการทำงานเครือข่ายด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง

นายสงครามได้ก่อตั้งและเป็นประธานกลุ่มหัตกรรมบ้านหนองหญ้าปล้อง ได้เก็บเศษไม้และเศษวัสดุต่าง ๆ มาทำเป็นของใช้ ของประดับต่าง ๆ โดยมีการทำเกวียนจำลองในขนาดต่าง ๆ ตามอัตลักษณ์ของเกวียนนั้น ๆ และจำหน่ายเป็นสินค้าโอท็อปของตำบลหนองหญ้าปล้อง ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ได้โอท็อประดับ 4 ดาวจากจังหวัดเพชรบุรี

(คลื๊กเพื่อดูรูปภาพอื่น)

6 ตุลาคม 2552

กิติณรงค์ เกิดรอด คนเพชรรักถิ่น คนจริงรักแผ่นดิน


กิติณรงค์ เกิดรอด คนเพชรรักถิ่น คนจริงรักแผ่นดิน

จากคำนิยามของ สว.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ สว. จังหวัดเพชรบุรี

นายกิติณรงค์ เกิดรอด เกิดเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2512 ที่บ้านเลขที่ 8 หมู่ 4 บ้านห้วยกวางจริง ต. พุสวรรค์ อ. แก่งกระจาน จ. เพชรบุรี เป็นบุตรนายล้อม – นางลอย เกิดรอด มีพี่น้องรวมกัน 3 คน การศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนบ้านห้วยกวางจริง มัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 (ม.6) จาการศึกษานอกโรงเรียน กศน. อ. แก่งกระจาน ปัจจุบันกำลังศึกษาระดับปริญญาตรี ในคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

นายกิติณรงค์ เกิดรอด หรือในชื่อเรียกว่า “รงค์” เป็นคนรักป่าและช่วยดูแลพื้นป่าในวัดห้วยกวางจริงมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ๆ และเป็นแกนนำชาวบ้านในการช่วยกันดูแลรักษาผืนป่าห้วยกวางจริง ป่าพุสวรรค์ ป่าเขาปุ้ม เขาแด่น ตลอดจนป่าในเขตยางน้ำกลัดใต้ เรื่อยมา จนปี 2543 ได้เขามาทำงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างจริงจัง

ในปี 2545 ได้ร่วมกับชาวบ้านพุตูม ต. ห้วยลึก อ. บ้านลาด จ. เพชรบุรี ชาวบ้านหมู่ใกล้เคียงอื่น ๆ และชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเพชรบุรี ที่มี อ. สุมล สุตะวิริยวัฒน์ เป็นประธาน ในการคัดค้านการบุกรุกที่ป่าสงวนในเขตบ้านพุตูม จำนวน 500 ไร่ เพื่อนำไปจัดทำเป็นที่ทิ้งและกำจัดขยะของเทศบาลเมืองเพชรบุรี โดยมีนักการเมืองใหญ่ที่มีอิทธิพลในจังหวัดเป็นผู้เข้าไปดำเนินการจะจัดทำ จนสามารถยุติการดำเนินโครงการดังกล่าวได้ กิติณรงค์พูดว่า “ป่าเขาแด่น ป่าพุตูม ถูกทำลายลงไปมากแล้ว ยังจะนำขยะมหาศาลมาทิ้งใส่อีก จะไม่ให้ป่าได้มีโอกาสฟื้นตัวบ้างเลยหรือ

ในปี 2548 ได้ร่วมกับกลุ่มอนุรักษ์พื้นที่ต้นน้ำลำธารและสิ่งแวดล้อม อ. หนองหญ้าปล้อง ที่มีนายนิวัฒน์ มั่นหมายเป็นประธารกลุ่ม ในการณรงค์และให้ความรู้กับชาวบ้านในการประกาศพื้นที่สีม่วงหรือพื้นที่เขตอุตสาหกรรมใน อ. หนองหญ้าปล้อง ได้ชี้ให้เห็นถึงความไม่เหมาะสมของการมีพื้นที่ประกอบการอุตสาหกรรมในพื้นที่ อ. หนองหญ้าปล้อง ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร โดยในวันที่ 25 มกราคม 2549 ได้นำชาวบ้านประมาณ 1,000 คนในเขตพื้นที่ อ. หนองหญ้าปล้อง อ. แก่งกระจาน อ. บ้านลาด และ อ. บ้านแหลม มาประท้วงหน้าศาลากลางจังหวัดเพชรบุรีและยื่นหนังสือคัดค้านการประกาศพื้นที่สีม่วงหรือพื้นที่อุตสาหกรรม ในเขต ต. ยางน้ำกลัดใต้ อ. หนองหญ้าปล้อง โดยให้คงพื้นที่เป็นพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่ในเขตชนบทและเพื่อการเกษตร ซึ่งต่อมาวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 คณะอนุกรรมการผังเมืองระดับจังหวัด ได้มีมติยกเลิกการกำหนดพื้นที่สีม่วง ในอำเภอหนองหญ้าปล้อง โดยให้คงเป็นพื้นที่สีเขียวดังเดิม นับเป็นชัยชนะของชาวบ้านในการคัดค้านการดำเนินงานของรัฐ ที่ชาวบ้านในพื้นที่ไม่เห็นด้วยและมองเห็นถึงมลพิษต่าง ๆ ที่จะเกิดตามมา

ในปี 2549 ได้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) จังหวัดเพชรบุรี ได้ร่วมกันดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของจังหวัดเพชรบุรี อย่างกว้างขวาง กิติณรงค์ถือเป็นหัวหอกของ ทสม. เพชรบุรี ที่ต้องต่อสู้กับการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน และการตัดไม้ทำลายป่า ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี โดยเฉพาะป่าในเขตพื้นที่ อ. แก่งกระจาน อ. หนองหญ้าปล้อง

ในปี 2551 วุฒิสภาได้แต่งตั้งให้นายกิติณรงค์ เกิดรอด เป็นอนุกรรมาธิการทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า วุฒิสภา ต้องไปประชุมและติดตามงานในการดูแลเรื่องราวการร้องทุกข์ในการบุกรุกพื้นที่ป่า บุกรุกตัดไม้ทำลายป่าและสัตว์ป่า ในพื้นที่ป่าสงวนและพื้นที่ไม่เหมาะสมต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยมีเบี้ยประชุมเพียงครั้งละ 500 บาท ซึ่งคงไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในการเดินทาง แต่กิติณรงค์ก็เต็มใจที่จะทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มหัวใจ ทุ่มทั้งแรงกาย แรงใจ ให้กับงานการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

แนวผืนป่าในเขตตำบลพุสวรรค์ วังจันทร์ แก่งกระจาน สองพี่น้อง ยางน้ำกลัดเหนือ ยางน้ำกลัดใต้ ท่าตะคร้อ หนองหญ้าปล้อง เป็นพื้นที่ที่กิติณรงค์รู้จักดี ใครมาบุกรุกทำลายเขาจะเข้าไปคอยคัดค้าน ขัดขวาง ตลอดจนชี้ช่องทางให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ และพนักงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เข้าไปป้องปราม และจับกุมในรายที่ไม่เชื่อฟัง จนผู้มีอิทธิพลและนายทุนต่าง ๆ ในเขตพื้นที่ดังกล่าวรู้จักเขาดี แต่ก็มีบางคนคิดร้ายต่อเขา

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2552 เขาขับรถกระบะอีซูซุ สีบรอนซ์เงิน ทะเบียน บฉ 3831 เพชรบุรี ไปร่วมงานศพที่วัดห้วยกวางจริง ระหว่างทางพบรถบรรทุก 10 ล้อบรรทุกไม้เบญจพรรณเกือบเต็มคันมุ่งหน้าออกมาจากป่าสงวนแห่งชาติแก่งกระจานผ่านวัด เขาตัดสินใจเลี้ยวรถขับตามไปดูว่า รถบรรทุกคันนี้จะเอาไม้เบญจพรรณไปที่ไหน โดยใช้ถนนสายหนองหญ้าปล้อง -ห้วยยางโทน เขาคิดว่าไม้ที่บรรทุกมานี้เป็นไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ที่ลักลอบตัดโดยผิดกฎหมายด้วยหรือไม่ ระหว่างติดตามเขาโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่สำนักบริหารจัดการป่าไม้ที่ 10 ราชบุรี ให้สกัดจับรถบรรทุกคันดังกล่าว แต่ได้รับคำตอบว่าไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากไม้เบญจพรรณยากต่อการตรวจสอบแหล่งที่มา กระทั่งรถวิ่งเข้าไปในด่านชั่งน้ำหนักของเอกชน ม.รุ่งโรจน์ ถ.เพชรเกษม ต.ดอนทราย อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี เขาจึงเลี้ยวรถกลับ ระหว่างนั้นมีรถกระบะนิสสัน ฟรอนเทียร์ 4 ประตู สีดำ ไม่ทราบทะเบียนขับตามขึ้นประกบ แล้วคนขับก็ชักอาวุธปืนออกมายิง เขาถูกยิงเข้าบริเวณหน้าอก ข้างลำตัวด้านขวา คอ และสะโพก ได้รับบาดเจ็บสาหัส ต้องเข้ารักษาตัวอยู่นานที่ รพ. ศูนย์ราชบุรี ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภอ. ปากท่อ ได้สืบทราบว่าผู้ต้องหาคดียิงนาย กิตติณรงค์ เกิดรอด คือนายจิรายุทธ เสนีย์วงศ์ หรือ “เสี่ยโย” เจ้าของลานไม้ห้วยกวางจริง ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 220 หมู่ 6 บ้านในคลอง ต.พุสวรรค์ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี สอบถามทราบว่าลานไม้แห่งนี้นายจิรายุทธได้เช่าพื้นที่จากนาย ยอม สดใส อายุ 51 ปี เป็นการเช่ากันเองโดยไม่ได้แจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินทราบตามระเบียบของการทำกิจการลานไม้ นอกจากนี้นายจิรายุทธยังใช้ลานไม้แห่งนี้เป็นสถานที่รับซื้อไม้เบญจพรรณจากชาวบ้าน ซึ่งไม้เบญจพรรณบางส่วนตัดฟันมาจากป่าสงวนยางน้ำกลัดเหนือ-ยางน้ำกลัดใต้อันเป็นการละเมิด พรบ.ป่าไม้ โดยก่อนหน้านี้นายกิตติณรงค์เคยแจ้งเบาะแสการลักลอบซื้อไม้ผิดกฎหมายดังกล่าวกับเจ้าหน้าที่จนเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้บุกเข้าจับกุมดำเนินคดีกับนายจิรายุทธมาแล้ว

นายบุญสืบ สมัครราช ผู้อำนวยการส่วนป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 10 (ราชบุรี) เปิดเผยว่า จากผลงานการทำงานเพื่อช่วยเหลือด้านการดูแลรักษาป่าและปกป้องทรัพยากรป่าไม้ของชาติขณะนี้นาย สมชัย เพียรสถาพร อธิบดีกรมป่าไม้ได้เสนอชื่อนายกิตติณรงค์ ให้เป็นบุคลที่เหมาะสมในการเข้ารับรางวัล “ผู้ทำคุณงามความดีต่อกรมป่าไม้ ”แล้ว ส่วนอาการของกิติณรงค์ก็ปลอดภัยดีแล้ว แต่ก็ยังคงมีลูกกระสุนปืนฝังอยู่ที่บริเวณสะโพกต้นขาขวา ทำให้ยังคงมีอาการขาชา เดินไม่ค่อยตรง ต้องทำกายภาพและนวดอยู่อีกสักระยะหนึ่ง

กิตติณรงค์ เกิดรอด แม้เกือบจะเอาชีวิตไม่รอดจากการทำหน้าที่ แต่เมื่อถามถึงอนาคตในฐานะอนุกรรมาธิการทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่านับจากนี้ เขายืนยันเสียงหนักแน่นโดยไม่ต้องคิดเลยว่า " ถึงแม้ผมจะโดนยิงครั้งนี้ มันไม่คุ้มกับเบี้ยประชุมที่ได้ครั้งละ 500 บาท แต่ผมก็จะทำหน้าที่รักษาทรัพยากรของชาติต่อไป ผมทำเพราะใจผมรัก และผมจะทำอย่างเต็มที่ " นี่คงมากกว่าคำมั่นสัญญา........กิติณรงค์ ยังคงทำหน้าที่ของตนเองอยู่อย่างใส่ใจ เขาไม่เคยย่อท้อ ไม่เคยเกรงกลัว คนชั่วที่จ้องทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เราก็คงจะได้เห็นเขาทำหน้าที่ผู้พิทักษ์ผืนป่าไปอีกยาวนาน

คลิบวีดีโอประวัติและผลงานของกิติณรงค์

โครงการกระทิงน้อยนักอนุรักษ์

  • สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทสจ.) จังหวัดเพชรบุรีร่วมกับคณะกรรมการเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม. ) จังหวัดเพชรบุรี จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ "โครงการกระทิงน้อยนักอนุรักษ์" เพื่อเป็นการสร้างองค์ความรู้ด้านทรัพยากรธรรมธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและการปลูกจิตสำนึก จิตอาสา ให้กับน้อง ๆ เยาวชน ในอำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี โดยจัดอบรมเมื่อ วันที่ 26-27 กันยนยน 2552 ณ โรงเรียนบ้านพุพลู ต. ยางน้ำกลัดใต้ อ. หนองหญ้าปล้อง จ. เพชรบุรี

นายนิพล ไชยสาลี หัวหน้ากลุ่มงานสิ่งแวดล้อม ทสจ. เพชรบุรี ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน


(คลิ๊กเพื่อดูรูปภาพอื่น ๆ)
  • โดยมีพี่นิวัฒน์ มั่นหมาย จาก ทสม. เพชรบุรี เป็นผู้ดำเนินการอบรม และวิทยากรให้องค์ความรู้ด้านต่าง ๆ กับเด็ก ๆ
  • ทีมพี่เลี้ยงจากศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา โรงเรียนแก่งกระจานวิทยา นำโดย อ. กชพรรณ ลาพิมพ์ เป็นทีมวิทยากรและพี่เลี้ยง ในเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ การสันทนาการและให้ความสนุกสนานละลายพฤติกรรมต่าง ๆ
  • ลุงสงคราม เสนะโลหิต ปราชญ์ชาวบ้านจากบ้านหนองหญ้าปล้อง เป็นวิทยากรให้ความรู้เรื่องต้นไม้และสัตว์แก่เด็ก ๆ ว่าต้นไม้ต้นใดมีประโยชน์มีโทษอย่างไร ต้นใดคนเราสามารถทำมากินได้และต้นใดเป็นพิษ
  • อ. บุญรอด เขียวอยู่ จากโรงเรียนบ้านลาดวิทยา มาสอนเทคนิคการวาดรูปให้เด็ก ๆ และให้เด็ก ๆ ประกวดวาดภาพสิ่งแวดล้อมที่เห็น
  • อ. สุริยา ปิ่นหิรัญ และ จ.ส.ต. ธนวิน ปิ่นหิรัญ จาก ทสม. เพชรบุรี เป็นวิทยากรปลูกจิตสำนึก จิตอาสาให้เด็ก ๆ
  • พระอาจารย์สุวัจน์ ชยกาโร (หลวงพี่แฟร้งค์) จากวัดเพชรพลี จังหวัดเพชรบุรี เป็นผู้มาสอนธรรมะ และปลูกจิตสำนึก จิตอาสา ตลอดจนประกอบพิธีรวมใจ พิธีเทียนให้กับเด็ก ๆ ในคืนวันเสาร์
  • ผู้ใหญ่เจน ป้อมสิงห์ เป็นวิทยากรด้านศาสนาให้กับเด็ก ๆ
  • การอบรมโครงการกระทิงน้อยนักอนุรักษ์ผ่านพ้นไปด้วยดี เด็ก ๆ สนุกสนานและได้ความรู้ตลอดเวลา 2 วัน 1 คืน ที่โรงเรียนบ้านพุพลู ทุก ๆ คน ให้คำมั่นสัญญาว่าจะดูแล และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปทั้งชีวิต

รายละเอียดโครงการ

5 ตุลาคม 2552

การประชุม ทสม. จังหวัดเพชรบุรี สัญจร ครั้งที่ 3/2552

  • คณะกรรมการ ทสม. จังหวัดเพชรบุรี ได้จัดประชุม สัญจร ครั้งที่ 3/2552 เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2552 ณ ห้องประชุมเล็ก เทศบาลตำบลบ้านแหลม อ. บ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี โดยมีนายไพบูลย์ ยิ้มแย้ม ให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดการการประชุมและให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของอำเภอบ้านแหลม และนายวัน เมฆอัคคี นายกเทศมนตรีตำบลบ้านแหลม ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น หลังจากนั้นนายนิวัฒน์ มั่นหมาย ประธานคณะกรรมการ ทสม. จังหวัดเพชรบุรี ได้ดำเนินการประชุมต่อไป
  • ประเด็นการประชุมหลักคือเรื่องของสถานการณ์ป่าชายเลนในเขตอำเภอบ้านแหลม โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมคือ คณะกรรมการ ทสม. จังหวัด เจ้าหน้าที่ ทสจ. และบุคคลในท้องถิ่น ดังนี้ อาทิ นายวัน เมฆอัคคี นายกฯ ผอ. รุฬ สำเภาทอง และอาจารย์ โรงเรียนบ้านแหลมวิทยา นายสมจิตร แก้วกาม ประธานกลุ่มรักษ์ป่าชายเลน ตำบลบางตะบูน หัวหน้าสามารถ ม่วงไหมทอง และทัวแทนจากสำนักจัดการทรัพยากรป่าชายเลนที่ 16 เป็นต้น และมีเครื่องให้คณะกรรมการพิจารณาลงมติ 2 เรื่องคือ การจัดประชุมสัญจรครั้งที่ 4/2552 ซึ่งที่ประชุมมีมติ ให้จัดในวันที่ 5 พ.ย. 52 ณ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนห้วยทรายเหนือ อ. ชะอำ จ.เพชรบุรี และการจัดทำโครงการ "กระทิงน้อยนักอนุรักษ์" ณ โรงเรียนบ้านพุพลู ต. ยางน้ำกลัดใต้ อ.หนองหญ้าปล้อง จ. เพชรบุรี ในวันที่ 26-27 กันยายน 2552
  • จากนั้นคณะกรรมการได้เดินทางไปดูป่าชายเลนและรับประทานอาหารกลางวันที่แหลมเหลว ปากแม่น้ำเพชรบุรี และที่สำนักสงฆ์....... ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าชายเหลนที่กำลังช่วยกันบูรณะให้สมบูรณ์

นายไพบูลย์ ยิ้มแย้ม นายอำเภอบ้านแหลม ให้เกียรติเป็นประธานเปิดประชุม


นายวัน เมฆอัคคี นายกเทศมนตรีเทศบ่านตำบลบ้านแหลม ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น


ผอ. รุฬ สำเภาทอง และนายนิวัฒน์ มั่นหมาย

บรรยากาศการประชุม


เจ้าที่ประจำป่าชายเลนบ้านแหลม (ลิงแสม)

บรรยากาศบริเวณปากแม่น้ำเพชรบุรี

5 กรกฎาคม 2552

แสงอาทิตย์แรกบนเขากระทิง


  • ในปีนี้พวกเรามีนัดกันว่าจะขึ้นสำรวจความสวยงามของเขากระทิง ซึ่งหลาย ๆ คนที่ได้ขึ้นไปชมแล้วกลับมาเหล่าถึงความสวยงามให้ฟัง พวกเราจึงนัดที่จะขึ้นเขากระทิงกันในปีนี้ และเราสามารถร่วมตัวกันได้ในวันที่ 6 มกราคม 2552 ได้ฤกษ์งามยามดีที่จะพากันขึ้นเขากระทิง เรารวมตัวกันได้ 16 ชีวิตซึ่งมาจากหลายหลากพื้นที่ ดังนี้ ดต. ประเสริฐ กลิ่นเกลี้ยง นายก อบต. หนองหญ้าปล้อง, นายนิวัฒน์ มั่นหมาย, นายชัยวัฒน์ ชาติปรีชา จาก ทสม. เพชรบุรี, ลุงสมพล กล้าหาญ, ลุงพิทักษ์ แสงแสน, นายธนภูมิ แสงแสน จากบ้านพุไทร, นายสัมฤทธิ์ ฟั่นคำสอน, นายธวัต คำสุข, นายประสิทธิ์ หมันมณี, นายสุชาติ นิลนวล จาก อบต. หนองหญ้าปล้อง, นายไพโรจน์ นิ่มวาด, นายเรือง อินเขาย้อย, นายสุชาติ เหี้ยมหาญ จากบ้านหนองไผ่, นายเสน่ห์ แจ้งเรือง, นายสนิท หนูทอง และลุงสงคราม เสนะโลหิต ซึ่งเป็นผู้นำทาง จากบ้านหนองหญ้าปล้อง เรานัดรวมตัวกันที่บ้านลุงสงครามแล้วให้รถยนต์จาก อบต. หนองหญ้าปล้องไปส่งที่บริเวณทางขึ้นเขากระทิงทางด้านหน้าที่ว่าการอำเภอหนองหญ้าปล้อง
  • เขากระทิงเป็นพื้นที่เขาเดี่ยวตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลหนองหญ้าปล้อง อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี เป็นพื้นที่ป่าสงวนป่าหนองหญ้าปล้อง ซึ่งมีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 550 เมตร มียอดที่สูงที่สุดสูง 559 เมตร และได้ชื่อว่าเป็นเขาเดี่ยวที่สูงที่สุดในจังหวัดเพชรบุรี มีลักษณะเป็นเขาที่มีรูปสามเหลี่ยมมียอดเขาด้านข้าง 4 ด้านซึ่งมีชื่อเรียกดังนี้
  • ยอดเขาผาแดง มีสัญลักษณ์ที่สำคัญคือหน้าผาหินสีแดง ซึ่งสามารถมองเห็นได้ชัดเจนจากบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอหนองหญ้าปล้อง ยอดเขาด้านนี้สามารถมองเห็นพื้นที่อำเภอหนองหญ้าปล้องได้เกือบทั้งหมด มองเห็นพื้นที่เขื่อนแม่ประจันต์ในมุมสูงได้อย่างสวยงามมาก
  • ยอดกระโจม เป็นยอดที่มีความสูงที่สุดของเขากระทิง อยู่ทางด้านทิศตะวันออก สามารถ มองพระอาทิตย์ขึ้นได้อย่างสวยงาม สมามรถมองเห็นพื้นที่ของจังหวัดเพชรบุรีในหลายอำเภอ เช่น อำเภอเขาย้อย อำเภอบ้านแหลม อำเภอเมือง เป็นต้น ในวันที่ท้องฟ้าสดใส มีคนเคยบอกว่าสามารถมองเห็นเรือสินค้าในแถบท่าเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ซึ่งอยู่อีกฝากหนึ่งของทะเลอ่าวไทย
  • ยอดผาด่าง เป็นยอดผาหิน มีพื้นที่หินถล่มจนมองเห็นเป็นหน้าผาหินขาวได้ในระยะไกล มีหินก้อนใหญ่ ที่สามารถนั่งชมวิวได้อย่างสวยงาม มองเห็นพื้นที่ตำบลท่าตะคร้อ อำเภอหนองหญ้าปล้อง ในช่วงเช้าสามารถมองเห็นทะเลหมอก
  • ยอดทโมน เป็นยอดที่ยื่นออกมาด้านหน้า ทางด้านทิศตะวันตก ซึ่งเป็น 2 ยอดที่สามารถมองเห็นได้จากทางด้านอำเภอหนองหญ้าปล้อง คู่กับยอดผาแดง
  • เขากระทิงได้ชื่อมาจากรูปร่างที่มีลักษณะเหมือนกระทิงนอนหมอบ และมีเจ้าป่าเจ้าเขาคือเจ้าพ่อเขากระทิง ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของคนอำเภอหนองหญ้าปล้อง ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ยังคงนิยมเรียกเขากระทิงว่า “เขาเจ้าคุณพ่อ” หรือ “เขาคุณพ่อ” ในหมู่บ้านต่าง ๆ และบริเวณรอบเขากระทิงนี้จะมีศาลเจ้าพ่อเขากระทิง ที่ชาวบ้านที่ให้ความเคารพนับถือ สร้างขึ้นอยู่ในหมู่บ้านและพื้นที่ต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 50 ศาล และมีประเพณีการเลี้ยงศาลกันในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุก ๆ ปี
  • 9.30 น. ของวันที่ 6 มกราคม พวกเราเริ่มเดินทางขึ้นเขากระทิง บริเวณที่เรียกว่าต้นโพธิ์ใหญ่ ซึ่งมีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่กลางไร่สับปะรดของชาวบ้าน (ขอบคุณเจ้าของไร่สับปะรดที่ยังไม่โคนโพธิ์ต้นนี้ทิ้ง) มีเส้นทางให้พวกเราเดินขึ้นเขาไปตามร่องน้ำ ไต่สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ โดยไม่เหนื่อยมากนัก เราไปหยุดพักกันครั้งแรกบริเวณก้อนหินใหญ่ ในเวลา 10.00 น. และหยุดพักครั้งที่ 2 บริเวณลานหินกลม ซึ่งจะเป็นลานหินสีดำ ในเวลา 11.00 น. จากนั้นก็เดินขึ้นถึงสันเขากระทิง บริเวณที่เรียกว่าป่าเต็งรัง ในประมาณ 11.30 น. สรุปว่าเราใช้เวลาในการเดินทางจากตีนเขาจนถึงสันเขาประมาณ 2 ชั่วโมง จากนั้นเราก็พากันเดินทางไปยังบริเวณยอดผาแดง ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 500 เมตร เราใช้เวลาชมวิว ถ่ายภาพ และส่งสัญญาณต่าง ๆ ให้คนด้านล่าง ในบริเวณนี้จะมีสัญญาณโทรศัพท์มือถือของทุกระบบอย่างชัดเจน เราสามารถมองเห็นพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ของอำเภอหนองหญ้าปล้อง มองเห็นผืนป่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ที่อยู่ทางทิศตะวันตกของอำเภอหนองหญ้าปล้อง มองเห็นวิวเขื่อนแม่ประจันต์ได้อย่างสวยงามไปจนสุดเขตของอ่างเก็บน้ำทุกด้าน
  • เราพักกินอาหารกลางวันกันอย่างเอร็ดอร่อยกันบริเวณนี้ และออกเดินทางไปตามสันเขาเพื่อไปยังผากระโจม ซึ่งเป็นจุดที่เราจะไปตั้งที่พักค้างแรม ในเวลาประมาณ 13.00 น. บนสันป่าเขากระทิงเป็นพื้นที่ราบ เป็นผืนป่าไม้ไผ่นวล ไม้เต็งรัง ไม้พะยอม และไม้อื่น ๆ ซึ่งยังคงสภาพป่าที่สมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นป่าเห็ดโคนแหล่งใหญ่ ในฤดูฝน การเดินทางของเราสามารถเดินกันได้อย่างสะดวก มีเดินขึ้นเนินบ้างเพียงเหล็กน้อย และมีลมพัดอย่างเย็นสบาย ทำให้การเดินทางไม่รู้สึกเหนื่อยเลย ในบ้างครั้งเราก็ต้องเดินลุยป่ารกบ้าง เช่นตอนเดินผ่านป่าต้นหวาย ป่าต้นพอง และป่าดิบ ที่มีต้นไม้นานาพันธุ์ แต่เราก็ต้องเสียดายที่ไม้ที่มีคุณค่าหลาย ๆ พันธุ์ต้องสูญพันธุ์ไปจากการตัดทำลายของชาวบ้าน เช่น มะค่าโมง ตะเคียนทอง ประดู่ชิงชัน ไม้แดง ยางดง ประดู่ส้ม ตะแบก เป็นต้น ลุงครามบอกว่าสมัยที่แกยังเด็ก ๆ ต้นไม้เหล่านี้มีเต็มเขากระทิงไปหมด แต่ปัจจุบันก็ยังคงมีต้นไม้ใหญ่ ๆ เหลืออยู่อีกหลายต้น มีต้นไม้ที่กำลังเติบโต มีสภาพป่าที่น่าหวงแหน อนุรักษ์ อีกมากมาย บนสันเขากระทิงตามรอยต่อของแต่ละยอดเขามีพื้นที่มากประมาณ 5 ตารางกิโลเมตร มีสภาพเป็นดินร่วนปนหิน เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของต้นไม้ทุกประเภท เราใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมงก็ถึงยอดผากระโจม ซึ่งลุงครามผู้นำทางของเราบอกว่าที่เรียกว่าผากระโจมก็เพราะได้ชื่อมาจากการที่ชาวเรือในจังหวัดเพชรบุรีและสมุทรสงครามใช้ยอดเขาลูกนี้เป็นที่สังเกตในเวลาที่จะเดินเรือเข้าฝั่ง ในลักษณะเดียวกับกระโจมไฟหรือหอประภาคาร แต่เป็นกระโจมไฟธรรมชาติ ยอดเขากระทิงลูกนี้เลยได้ชื่อว่ายอดกระโจม ซึ่งเป็นยอดที่สูงที่สุดบนเขากระทิง อยู่ทางด้านตะวันออกของลูกเขา พื้นที่เป็นป่าเต็งป่ารัง มีลมพัดแรงมาก ทำให้ไม่มีต้นไม้สูงมากนัก ลุงครามเล่าให้ฟังว่าพื้นที่บริเวณนี้ทางกรมป่าไม้เคยใช้เป็นพื้นที่ตั้งหมุดสำรวจป่า ในปี พ.ศ. 2500 ซึ่งยังคงมีหลักฐานเป็นหมุดคอนกรีตฝังอยู่ และได้ทำการตัดต้นไม้ในบริเวณนี้ออกทั้งหมด จนเป็นพื้นที่โล่ง ทำให้ต้นไม้ที่เห็นในปัจจุบันของบริเวณนี้มีอายุแค่เพียงประมาณ 50 ปี จึงยังไม่โตมากนัก
    พวกเราตั้งที่พักกันบริเวณนี้ และสร้างจุดที่จะถ่ายภาพพระอาทิตย์ขึ้นกันบนต้นไม้ หลังจากนั้นเราก็หุงอาอาหารกินกันอย่างสนุกสนาน โดยหาฟืนซึ่งเป็นไม้แห้งตามบริเวณไหล่เขาได้อย่างมากมาย และในเวลา 19.00 น. เราก็ได้มีเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในเรื่องของการร่วมกันอนุรักษ์ป่าเขากระทิง และการพัฒนาป่าเขากระทิงเพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดเพชรบุรี เราพูดคุยกันท่ามกลางกลองไฟที่ลุกโจนให้ทั้งแสงสว่างและความอบอุ่น มีประธานเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) จังหวัดเพชรบุรี (นายนิวัฒน์ มั่นหมาย) เป็นคนเปิดประเด็นและดำเนินรายการ มีท่านนายก อบต. หนองหญ้าปล้อง (ดต. ประเสริฐ กลิ่นเกลี้ยง) เป็นผู้เสนอนโยบายในการพัฒนาเขากระทิงเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ เป็นจุดชมวิวที่สวยงาม ของจังหวัด พวกเราทั้ง 16 ชีวิตได้พูดคุยกันถึงแนวทางต่าง ๆ ตลอดจนประวัติในเรื่องราวของเขากระทิง กันอย่างเพลิดเพลินจนเวลาเกือบเที่ยงคืนจึงได้แยกย้ายกันไปพักผ่อน
  • 4 นาฬิกาของวันใหม่จึงมีคนลุกขึ้นมาเติมฟืนให้กองไฟลุกอีกครั้ง หลายคนตื่นมาชงกาแฟกิน เตรียมตัวเพื่อถ่ายภาพพระอาทิตย์ขึ้น ซึ่งวันนี้ท้องฟ้าก็เปิดไม่มีเมฆหมอกมากนัก พวกเราสมหวังกับการรอคอย พี่ชัยวัฒน์ซึ่งเป็นช่างภาพที่ถ่ายภาพมาแล้วเกือบทั่วประเทศบอกว่า ภาพพระอาทิตย์ขึ้นของเราสวยไม่แพ้ที่ใด ๆ เลย พวกเราหลายคนสมหวังกับ “แสงอาทิตย์แรกบนเขากระทิง”
  • จากนั้นพวกเราก็เก็บข้าวของออกเดินทางเพื่อไปยังผาด่าง และเดินทางลงจากเขากระทิงทางด้านนั้น เราออกเดินทางเวลา 7.30 น. ผ่านป่าเต็งป่ารังบนสันเขากระทิงมายังผาด่าง ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง จึงมาถึงผาด่าง ซึ่งเป็นบริเวณที่มีก้อนหินใหญ่น้อย มากมาย มีจุดไต่เขาที่สวยงาม มีพันธุ์ไม้ที่ขึ้นตามร่องหินที่กำลังออกดอกสวยงาม มีลานหินขาวที่เป็นพื้นที่หินถล่ม เป็นวิวที่สวยงามไปอีกแบบ จากนั้นเราก็ลงเขาตามเส้นทางร่องน้ำและเส้นทางที่ชาวบ้านใช้ขึ้นเขา ลำบากบ้างบางจุด แต่ก็สามารถลงมาได้อย่างปลอดภัยกันทุกคน สามารถมาเราเรื่องราวต่าง ๆ กันได้อย่างสนุกสนานโดยเฉพาะท่านนายกฯ ซึ่งใช้วิธีลงเขาโดยการนั่งลื่นสไลด์เดอร์ลงมา หลายคนที่ขึ้นเขากระทิงกับพวกเราในวันนี้มีอายุมากแล้ว เช่นลุงพิทักษ์ ลุงสมพล อายุ 70 แล้วทั้งคู่ ลุงคราม 65 ปี ท่านนายก 60 ปี แต่ก็ใจสู้เดินขึ้นเขาและกลับลงมาได้อย่างสวัสดิภาพทุกคน
  • จากหลายความคิดเห็นหลายมุมมองของทั้ง 16 ชีวิต ในครั้งนี้เราต่างลงความคิดเห็นพ้องกันว่า พื้นที่ป่าเขากระทิงมีความสวยงาม และยังทรงคุณค่า ต้องร่วมกันอนุรักษ์ดูแล และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ซึ่งหลายศักยภาพที่ทุกคนมองเห็น โดยเฉพาะจุดชมวิวต่าง ๆ ทั้ง 4 จุด จะเป็นจุดชมวิวที่สวยงามมากทั้งกลางวัน และกลางคืน ตลอดจนการมองทิวทัศน์ที่ต่าง ๆ ของจังหวัดเพชรบุรีจากมุมที่ได้ชื่อว่าสูงที่สุดในจังหวัด

( คลิ๊กเพื่อดูภาพอื่น ๆ )

22 มิถุนายน 2552

วันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายน

วันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day)

ความเป็นมาของวันสิ่งแวดล้อมโลก
จากการตื่นตัวในวิกฤติการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมของโลก อันประกอบด้วยวิกฤตการณ์ด้านต่าง ๆ เช่น การขาดแคลนอาหาร วิกฤตการณ์ด้านพลังงาน อัตราการเพิ่มของประชากรที่สูงมาก รวมทั้งปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ซึ่งเป็นผลกระทบกับคนทั่วโลก องค์การสหประชาชาติจึงได้จัดประชุมที่เรียกว่า "การประชุมสหประชาชาติเรื่องสิ่งแวดล้อมของมนุษย์" (UN Conferenceonthe Human Environment) ที่กรุงสต๊อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ระหว่างวันที่ 5 - 16 มิถุนายน 2515 โดยใช้เวลาเตรียมการประชุมครั้งนี้ถึง 3 ปี เพื่อจัดทำร่างข้อเสนอต่าง ๆรวมทั้งแผนการดำเนินการและปฏิญญาว่าด้วยสิ่งแวดล้อมของมนุษย์
ในการประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมถึง 1,200 คน จาก 113 ประเทศ นอกจากนั้นยังมีผู้สังเกตการณ์กว่า 1,500 คน จากหน่วยงานรัฐ องค์กรเอกชน สื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ พร้อมทั้งตัวแทนเยาวชนและกลุ่มนักศึกษาจากทั่วโลก ซึ่งผลการประชุมนับว่าประสบผลสำเร็จอย่างงดงาม เพราะเป็นครั้งแรกที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้หันหน้าเข้าหากันเพื่อร่วมขจัดภัยอันตรายด้านสิ่งแวดล้อม โดยองค์การสหประชาชาติได้จัดตั้ง โครงการสิ่งแวดล้อมสหประชาชาติ (UNEP : United Nation Environment Programme) ขึ้น ซึ่งรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ก็ได้รับข้อตกลงจากการประชุมคราวนั้นและจัดตั้งหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นในประเทศของตน
ดังนั้น เพื่อเป็นการระลึกถึงจุดเริ่มต้นของการร่วมมือระหว่างชาติทั่วโลกในด้านสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2515 อันเป็นวันเริ่มการประชุมครั้งยิ่งใหญ่นี้ องค์การสหประชาชาติจึงได้รับประกาศให้วันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปีเป็น วันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) พร้อมจัดให้มีหัวข้อการรณรงค์

คำขวัญวันสิ่งแวดล้อมโลก ปี 2552
"คุณคือพลังช่วยหยุดยั้งภาวะโลกร้อน"
"Your Planet Needs you! Unite to Combat Climate Change"

15 มิถุนายน 2552

โครงการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพคณะกรรมการเครือข่าย ทสม.

โครงการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพคณะกรรมการเครือข่าย ทสม. หลักสูตรมาตรฐานอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน ซึ่งสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 8 ได้จัดให้มีการประชุมอบรมเมื่อวันที่ 14-15 พฤษภาคม 2552 ณ วังสิงห์รีสอร์ท ต. สิงห์ อ. ไทรโยค จ. กาญจนบุรี โดยมีท่านผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 8 ดร. กฤษณา เชยพันธุ์ เป็นประธานเปิดงาน และให้ข้อแนะนำเรื่องสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 8 กับการหนุนเสริมเครือข่าย ทสม.
สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 8 ประกอบไปด้วย 5 จังหวัดคือ กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธุ์ ได้มีคณะกรรมการ และสมาชิก ทสม. จังหวัดละ 20 ท่านเข้าร่วมการอบรมตามหลักสูตร โดยมีพี่วิโรจน์ พรหมอ่อน ประธาน ทสม. จังหวัดกาญจนบุรี เป็นวิทยากรกระบวนการดำเนินรายการในหัวข้อดังนี้
1. บทบาทของอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน
2. การขับเคลื่อนงานของเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน
3. กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ ทสม.
นายสมศักดิ์ พลายมาต นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ เป็นวิทยากรในหัวข้อ บทบาทของอาสาสมัคร ทสม. ในการเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม
และนางนงลักษณ์ พรหมสถิต นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษ เป็นวิทยากรดำเนินรายการ การทบทวนหลังการฝึกอบรมและนำเสนอแผนงานของเครือข่าย ทสม. แต่ละจังหวัด ใช้เวลาในการอบรมตามหลักสูตร 12 ชั่วโมง พร้อมกับมอบประกาศนียบัตรกับเข็มเครือข่าย ทสม. ให้กับผู้ผ่าการอบรมทุกท่าน
(คลิ๊กเพื่อดูรูปภาพอื่น)

31 พฤษภาคม 2552

การประชุม ทสม. จังหวัดเพชรบุรี สัญจรครั้งที่ 2/2552

คณะกรรมการเครือข่าย ทสม. จังหวัดเพชรบุรี ได้จัดการประชุม ทสม. สัญจรครั้งที่ 2/2552 ในวันที่ 23 เมษายน 2552 ณ ห้องประชุม องค์การบริหารส่วนตำบลพุสวรรค์ อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โดยมีนายจำเนียร ทิมเพชร นายก อบต. พุสวรรค์ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดประชุม และมีนายนิวัฒน์ มั่นหมาย เป็นผู้ดำเนินการประชุม มีคณะกรรมการทสม. จังหวัดเพชรบุรี ผู้บริหารและสมาชิก อบต. พุสวรรค์ ผู้นำชุมชนและชาวบ้าน ในเขตอำเภอแก่งกระจานและอำเภอหนองหญ้าปล้อง เข้าร่วมประชุม โดยมีประเด็นหลักในเรื่องของการนำเสนอสถาณการณ์การบุกรุกที่ดินป่าสงวนและการตัดไม้ทำลายป่าในพื้นที่อำเภอแก่งกระจาน และอำเภอหนองหญ้าปล้อง มีนักวิชาการป่าไม้มาให้ข้อมูลและคำแนะนำ

และในช่วงสุดท้าย นายวีระ ศรีวัฒนตระกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ได้เดินทางมารับทราบข้อมูล ปัญหาและข้อเสนอของที่ประชุม ตลอดจนให้นโยบายการทำงานของเครือข่าย ทสม. ในพื้นที่




คำสั่งจังหวัดเพชรบุรี เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการ ทสม. จังหวัดเพชรบุรี

คำสั่งจังหวัดเพชรบุรี
ที่ 465/2552
เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
และสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) จังหวัดเพชรบุรี
อนุสนธิคำสั่งจังหวัดเพชรบุรีที่ 502/2551 ลงวันที่ 9 เมษายน 2551 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านจังหวัดเพชรบุรี จากการคัดเลือกผู้แทนคณะกรรมการระดับอำเภอที่มีเครือข่าย ทสม.อำเภอละไม่น้อยกว่า 1คน ตามระเบียบกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่าด้วยอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน พ.ศ. 2550 นั้น
เนื่องจากมีคณะกรรมการบางท่านลาออกจากตำแหน่ง และคณะกรรมการเครือข่าย ทสม.จังหวัดเพชรบุรี ได้มีมติคณะกรรมการชุดเดิมหมดวาระลง และให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่เพื่อมาปฏิบัติหน้าที่แทน ฉะนั้นเพื่อความเหมาะสมและเพื่อให้การดำเนินงานของเครือข่าย ทสม.จังหวัดเพชรบุรี เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จังหวัดเพชรบุรีจึงขอแต่งตั้งคณะกรรมการเครือข่าย ทสม. จังหวัดเพชรบุรี โดยให้มีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ ดังนี้
องค์ประกอบ
  1. นายนิวัฒน์ มั่นหมาย ประธาน
  2. นางสาวสุริยา ปิ่นหิรัญ รองประธาน
  3. นายพิชัย เรืองวิชา ฝ่ายวิชาการ
  4. นายนิคม เกสรสุคนธ์ ฝ่ายกฏหมาย
  5. นางดวงเดือน ไชยวงษา ฝ่ายทะเบียน
  6. นายกิติณรงค์ เกิดรอด ฝ่ายกิจกรรม
  7. นายเพ็ญ เดชคุ้ม ฝ่ายเหรัญญิก
  8. นายชัยวัฒน์ ชาติปรีชา ฝ่ายเผยแพร่ประชาสัมพันธ์
  9. นายสมนึก พูลพิพัฒน์ ฝ่ายปฏิคม
  10. นางสมบุญ น้อยพ่วง กรรมการ
  11. นายประยูร พิกุลหอม กรรมการ
  12. นางสุชาดา ธัญญกุลสัจจา กรรมการ
  13. นางสาวชมภูนุช ประเสริฐจิตร์ กรรมการ
  14. นายสุรพร กุลศิริชัยวัฒน์ กรรมการ
  15. นางพเยาว์ มะพุก กรรมการ
  16. จ.ส.อ. ธนวิน ปิ่นหิรัญ กรรมการและเลขานุการ
  17. นางสาวขวัญเนตร สบายใจ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ (คลิ๊กเพื่อดูรูปคณะกรรมการ)

อำนาจหน้าที่

  1. เป็นผู้ประสานงานต่อคณะกรรมการเครือข่าย ทสม. ระดับต่าง ๆ ของจังหวัดเพชรบุรี และคณะกรรมการเครือข่าย ทสม. ระดับประเทศ และหน่วยงานอื่น
  2. จัดทำแผนปฏิบัติงาน ออกข้อกำหนด/ข้อบังคับ เพื่อเป็นกรอบการดำเนินงานของเครือข่าย ทสม. จังหวัดเพชรบุรี
  3. ดำเนินการตามแผนหรือนโยบายที่กำหนดไว้
  4. จัดทำบัญชี รายรับ-รายจ่าย เพื่อการตรวจสอบ
  5. รวบรวมข้อมูลการปฏิบัติงานของเครือข่าย ทสม. จังหวัดเพชรบุรี และเครือข่ายในระดับอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ในจังหวัดเพชรบุรี เพื่อนำมาแถลงต่อที่ประชุมสามัญประจำปี
  6. แต่งตั้งที่ปรึกษา เพื่อขอคำปรึกษา หรือแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อสนับสนุน ช่วยเหลือในการทำงานได้ตามความเหมาะสม
  7. หน้าที่อื่นตามมติของคณะกรรมการเครือข่าย ทสม.

อนึ่ง มติของคณะกรรมการเครือข่าย ทสม.จังหวัดเพชรบุรี ที่มีก่อนมีคำสั่งฉบับนี้และไม่ขัดหรือแย้งกับมติของคณะกรรมการเครือข่าย ทสม.จังหวัดเพชรบุรี ตามคำสั่งนี้ให้ถือเป็นมติของคณะกรรมการเครือข่าย ทสม. ตามคำสั่งนี้

ทั้งนี้ แต่งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

สั่ง ณ วันที่ 1 เดือนเมษายน พ.ศ. 2552

นายชาย พานิชพรพันธุ์

ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี

26 เมษายน 2552

การประชุม ทสม. จังหวัดเพชรบุรีสัญจรครั้งที่ 1/2552

หนึ่งในแผนงานปฏิบัติงานประจำปี 2552 ของ ทสม. เพชรบุรี คือการประชุมสัญจรในพื้นที่ เพื่อเป็นการรับทราบปัญหาในระดับพื้นที่และการสร้างเครือข่าย ทสม. ในระดับต่าง ๆ ตลอดจนการแสวงหาพันธมิตรในการร่วมกันอนุรักษ์ดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยในปี 2552 นี้คณะกรรมการ ทสม. จังหวัดเพชรบุรีได้กำหนดจัดประชุมสัญจรในอำเภอต่าง ๆ จำนวน 4 ครั้งดังนี้

1. อำเภอหนองหญ้าปล้อง ในระหว่างเดือน มกราคม-กุมภาพันธ์

2. อำเภอแก่งกระจาน ในระหว่างเดือน เมษายน-พฤษภาคม

3. อำเภอบ้านแหลม ในระหว่างเดือน สิงหาคม-กันยายน

4. อำเภอชะอำ ในระหว่างเดือน ตุลาคม-พฤศจิกายน

การประชุมสัญจรครั้งที่ 1/2552 ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลหนองหญ้าปล้อง อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี วันที่ 29 มกราคม 2552 โดยมีประเด็นหลักของการประชุมคือ การระดมความคิดเห็นเรื่องของการพัฒนาพื้นที่ป่าเขากระทิงเพื่อการอนุรักษ์และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์

2 มกราคม 2552

การเลือกตั้งคณะกรรมการ ทสม. จังหวัดเพชรบุรี

สืบเนื่องจากทางอาจารย์สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ( สว. เพชรบุรี ) ประธานฯ ทสม. จังหวัดเพชรบุรี ได้มีหนังสือขอลาออกจากการเป็นประธานฯ ทสม. จังหวัดเพชรบุรี เนื่องจากติดภารกิจในหน้าที่ สว. ไม่สามามารถมีเวลาให้กับการทำงานของ ทสม. ได้อย่างเต็มที่ จึงขอลาออก ทางคณะกรรมการชุดเดิมจึงมีมติให้คณะกรรมการชุดดังกล่าวหมดวาระไปด้วย และให้มีการประชุมสรรหาคณะกรรมการ ทสม. เพชรบุรี ใหม่
ในการประชุมครั้งที่ 6/2551 วันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 จึงได้มีมติเลือกคณะกรรมการ ทสม. จังหวัดเพชรบุรี จำนวน 17 ท่านดังนี้
1. นายนิวัฒน์ มั่นหมาย ประธานคณะกรรมการ ทสม. จังหวัดเพชรบุรี
2. น.ส. สุริยา ปิ่นหิรัญ รองประธาน
3. จ.ส.อ. ธนวิน ปิ่นหิรัญ เลขานุการ
4. น.ส. ขวัญเนตร สบายใจ ผู้ช่วยเลขานุการ
5. นายเพ็ญ เดชคุ้ม เหรัญญิก
6. นายนิคม เกสรสุคนธ์ ฝ่ายกฏหมาย
7. นายพิชัย เรืองวิชา ฝ่ายวิชาการและข้อมูล
8. นายชัยวัฒน์ ชาติปรีชา ฝ่ายเผยแพร่ประชาสัมพันธ์
9. นายกิติณรงค์ เกิดรอด ฝ่ายกิจกรรมและการมีส่วนร่วม
10.นางดวงเดือน ไชยวงษา ฝ่ายทะเบียน
11. นายสมนึก พูลพิพัฒน์ ฝ่ายปฏิคม
12. นางสมบุญ น้อยพ่วง กรรมการ
13. นายประยูร พิกุลหอม กรรมการ
14. นางสุชาดา ธัญญกุลสัจจา กรรมการ
15. นางพเยาว์ มะพุก กรรมการ
16. น.ส. ชมภูนุช ประเสริฐจิตร์ กรรมการ
17. นายสุรพร กุลศิริชัยวัฒน์ กรรมการ

ซึ่งทาง ทสจ. เพชรบุรีจะได้มีหนังสือแต่งตั้งเพื่อให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีลงนามในคำสั่งแต่งตั้งต่อไป